xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแล้ว! อุโมงค์ยักษ์ กทม.เชื่อแก้น้ำท่วมถาวร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์  บริพัตร  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดอุโมงค์ยักษ์ พระรามเก้า-รามคำแหง
กทม.เปิดอุโมงค์ยักษ์พระรามเก้า-รามคำแหงช่วยระบายน้ำจากแสนแสบ ลงสู่เจ้าพระยา อย่างเป็นทางการ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

วันนี้ (15 ก.พ.) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานในพิธีเปิดอุโมงค์ยักษ์ พระรามเก้า-รามคำแหง ณ สถานีสูบน้ำพระโขนง ซอยย่อยสาวณิต ซอยสุขุมวิท 50 ถนนสุขุมวิท พร้อมกล่าวว่า กทม.ได้ดำเนินการสร้างระบบอุโมงค์ยักษ์ 4 แห่ง ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของกรุงเทพฯ มากกว่า 2 เท่า ภายใน 5 ปี โดยหนึ่งในนั้นจะเป็นอุโมงค์ระบายน้ำที่ใหญ่ที่สุด และยาวที่สุดในประเทศไทย ระบบอุโมงค์ยักษ์ 4 แห่ง จะทำให้ กทม.มีศักยภาพในการระบายน้ำเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล โดยมีประสิทธิภาพในการระบายน้ำเท่ากับการระบายน้ำออกจากสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐาน 4 สระ ภายในเวลาไม่ถึง 1 วินาที ระบบอุโมงค์ยักษ์ 4 แห่ง จะทำให้ความยาวรวมของอุโมงค์ระบายน้ำในกทม.ทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 14 กม.เป็นประมาณ 50 กม.และทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านอุโมงค์ใต้ดินเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันไหลด้วยปริมาณรวมกันประมาณ 95 ลบ.ม./วินาที เป็น 240 ลบ.ม./วินาที

ทั้งนี้ ระบบอุโมงค์ยักษ์ ประกอบด้วย อุโมงค์ยักษ์ 4 แห่ง ดังนี้ อุโมงค์ยักษ์ หนึ่ง คือ อุโมงค์ยักษ์พระรามเก้า-รามคำแหง จะเป็นอุโมงค์ระบายน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ที่สุดที่ กทม.เคยมีมา ระบายน้ำได้ปริมาณมากกว่า 60 ลบ.ม./วินาที มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ม.และความยาว 5 กม.จุดเริ่มต้นที่คลองลาดพร้าวเชื่อมกับคลองแสนแสบ และไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์ยักษ์ สอง คือ อุโมงค์ยักษ์รัชดาภิเษก-สุทธิสาร จะช่วยระบายน้ำในเขตพื้นที่ห้วยขวาง ดินแดง จตุจักร พญาไท ดุสิต และบางซื่อ อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ม.เช่นเดียวกับอุโมงค์หนึ่ง แต่จะยาวกว่าประมาณ 6 กม.ครึ่ง เริ่มจากย่าน ถ.รัชดาภิเษก ตัดกับ ถ.สุทธิสารไปสิ้นสุดที่แม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์ยักษ์

สาม คือ อุโมงค์ยักษ์ดอนเมือง เป็นอุโมงค์ระบายน้ำใต้ดินที่จะยาวที่สุด และใหญ่ที่สุดในบรรดา 4 แห่ง มีเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ 6 ม. ยาว 13.5 กม.มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำมากกว่า 15 เท่า เมื่อเทียบกับอุโมงค์แห่งแรกของกรุงเทพฯ ที่สร้างขึ้นเมื่อ 25 ปีก่อนในย่านสุขุมวิท โดยครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 100 ตาราง กม.รวมไปถึงพื้นที่ย่านจตุจักร หลักสี่ บางเขน ดอนเมือง และบางส่วนของพื้นที่เขตสายไหม และอุโมงค์ยักษ์ สี่ คือ อุโมงค์ยักษ์สวนหลวง ร.9 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ม. และมีประสิทธิภาพในการระบายน้ำ 60 ลบ.ม./วินาที มีความยาวอยู่ที่ 9.5 กม.เริ่มจากสวนหลวง ร.9 ไปจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์นี้จะทำให้พื้นที่กว่า 85 ตาราง กม.ได้รับประโยชน์ รวมถึงพื้นที่ย่านประเวศ พระโขนง บางนา และ สวนหลวง ทั้งนี้ อุโมงค์ยักษ์รัชดาภิเษก-สุทธิสาร จะเริ่มก่อสร้างกลางปี 54 และการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ดอนเมือง และอุโมงค์ยักษ์สวนหลวง ร.9 จะเริ่มในปี 55 อุโมงค์ทั้งหมดคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จไม่เกิน 5 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น