รมว.แรงงาน มอบแรงงานสัมพันธ์เร่งเจรจาม็อบคนงานกว่าพัน หลังเดินเท้าเข้ากรุงล้อม ก.แรงงาน เหตุนายจ้างปิดโรงงานจ้างต่างด้าว พร้อมประสาน กทม.ขอใช้สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ขู่ยกระดับการชุมนุม หากยังไม่แก้ปัญหาภายใน 3 วัน
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่เมื่อวานนี้ (14ก.พ.) มีกลุ่มผู้ใช้แรงงานภาคตะวันออกกว่า 1,000 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างจากบริษัท แม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ผลิตยางรถยนต์ บริษัท ฟูจิตสึ เจเนอรัล ประเทศไทย ผลิตชิ้นส่วนและประกอบเครื่องปรับอากาศ บริษัท พีซีบี เซ็นเตอร์ ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเดินทางมาจาก จ.ระยอง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อมาปักหลักชุมนุมเรียกร้องให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน ช่วยแก้ปัญหาของพนักงานทั้ง 3 บริษัท ที่ถูกนายจ้างละเมิดสิทธิแรงงานว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักแรงงานสัมพันธ์เข้าไปเจรจาและช่วยเหลือคนงานทั้ง 3 บริษัท เป็นการด่วนแล้ว
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า เข้าใจว่าการดำเนินการอาจต้องใช้เวลา เนื่องจากปัญหาดังกล่าวยืดเยื้อมาพอสมควร อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ประสานไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อขอใช้พื้นที่บริเวณด้านหน้าสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง รวมทั้งอำนวยความสะดวกจัดหารถสุขาเคลื่อนที่ 4 คัน รถพยาบาลพร้อมเจ้าหน้าที่ เต็นท์ 10 หลัง และจุดบริการน้ำอุปโภคบริโภค 3 จุด
โดยกลุ่มผู้ใช้แรงงานงาน กล่าวว่า ถูกนายจ้างละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น ปิดกิจการลอยแพคนงาน โดยนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย นายจ้างลดสวัสดิการ เป็นต้น โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดินแดง คอยดูแลรักษาความปลอดภัย
ทั้งนี้ นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) รวมทั้งประธานสหภาพแรงงานทั้ง 3 บริษัท เข้ายื่นข้อเรียกร้องและเจรจากับผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ขณะเดียวกันนางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้เข้าร่วมเจรจาด้วยตนเอง
โดย นายสมศักดิ์ สุขยอด ประธานสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กล่าวว่า คนงานทั้งหมดจะปักหลัดชุมนุมอยู่หน้ากระทรวงแรงงานจนกว่าข้อเรียกร้องจะได้รับการแก้ไข เนื่องจากที่ผ่านมา มีการเจรจากว่า 14 ครั้ง แต่ก็ประสบความล้มเหลว ทั้งนี้ คนงานเห็นว่าคำสั่งปิดกิจการของนายจ้างแล้วหันไปจ้างแรงงานต่างด้าว ถือเป็นการละเมิดสิทธิแรงงานไทย ทั้งที่ผลประกอบการของนายจ้างมีกำไร เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะบริษัท แม็กซิส มีกำไรเพิ่มขึ้นในปี 2552 จาก 9 ล้านบาท เป็น 1,564 ล้านบาท ซึ่งภายใน 3 วัน หากยังไม่ได้รับการแก้ไข ทางกลุ่มคนงานจะยกระดับการชุมนุมต่อไป