xs
xsm
sm
md
lg

แอดมิชชัน'54 คงเดิม! ทปอ.เตรียมจัดสอบรับตรงกลาง แก้เด็กวิ่งรอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มติ ทปอ.ยืนใช้สัดส่วน ค่าน้ำหนัก แอดมิชชัน 54 เหมือนเดิม เห็นชอบลดสอบ GAT/PAT เหลือแค่ 2 ครั้ง ต.ค., มี.ค.เริ่ม ต.ค. 2554 นี้ เมินศูนย์รับตรง สกอ.เตรียมผุดศูนย์รับตรงกลางเป็นของตัวเอง ดึงมหา’ลัยในสังกัด ทปอ.ร่วม แก้เด็กวิ่งรอก
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (12 ก.พ.) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เมื่อเวลา 14.00 น. ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มทส. ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ทปอ.ว่า ทปอ.มีมติยืนยันเกี่ยวกับองค์ประกอบ และค่าน้ำหนักในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือ แอดมิชชันกลาง ปีการศึกษา 2554 เหมือนเดิม ประกอบด้วย คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ปลาย (GPAX) 20% แบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET 30% แบบทดสอบวัดความถนัดทั่วไป หรือ GAT 10-50% และแบบทดสอบวัดความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT 0-40% รวมทั้งเห็นชอบให้กลุ่มคณะต่าง ๆ สามารถปรับค่าน้ำหนักองค์ประกอบในการแอดมิชชันกลางได้แต่จะปรับเท่าใด และปรับในปีการศึกษาใดนั้นก็จะต้องให้คณะทำงานศึกษาระบบแอดมิชชันกลางซึ่งมี ผศ.ดร.พงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม เป็นประธาน ไปพิจารณาอีกครั้ง

นอกจากนี้ ทปอ.ยังมีมติเห็นชอบให้ปรับลดจำนวนการสอบ GAT /PAT ลงจากปีละ 3 ครั้งในเดือน ก.ค., ต.ค.และ มี.ค.เหลือปีละ 2 ครั้ง เพื่อไม่ต้องการให้เด็กสอบหลายครั้งและเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก โดยในเบื้องต้นจะสอบในเดือน ต.ค.2554 และ มี.ค.2555 ซึ่งการสอบ GAT/PAT ครั้งนี้ จะนำไปใช้ในการแอดมิชชันกลางปีการศึกษา 2555 และขอย้ำว่า เด็กที่จะสอบได้จะต้องอยู่ชั้น ม.6 เท่านั้น

ศ.ดร.ประสาท กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงเรื่องระบบรับตรงและเห็นว่าการรับตรงที่ผ่านมามีปัญหาจริงโดยได้มีการหยิบยกประเด็นนักศึกษาคนหนึ่งที่วิ่งรอกรับตรงถึง 12 แห่ง และเสียเงินไปถึง 2 แสนบาท และสามารถสอบติดทั้งหมด 8 แห่ง ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติเห็นว่า ทปอ.น่าจะเข้ามาดูแลปัญหารับด้วยตัวเอง โดยในเบื้องต้นจะจัดสอบรับตรงกลางร่วมกันในมหาวิทยาลัยที่สังกัด ทปอ.เท่านั้น แต่ทั้งนี้ ก็ต้องมาดูอีกครั้งว่าจะมีมหาวิทยาลัยใดบ้างที่จะเข้าร่วม และได้มอบหมายให้คณะทำงานศึกษาระบบแอดมิชชันกลางไปศึกษารายละเอียดต่างๆ ว่า จะสามารถดำเนินการได้อย่างไร แต่ยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าวจะต้องยึดหลักว่าจะต้องดำเนินการภายหลังจากที่นักเรียนได้จบตามหลักสูตรที่กำหนด และไม่ให้เกิดปัญหาวิ่งรอกสอบและเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

“ผมคิดว่าเมื่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้รับทราบแนวทางที่ ทปอ.กำลังจะดำเนินการก็จะไม่พิจารณาจัดตั้งศูนย์กลางการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา (รับตรง) ขึ้นอีก แต่ทั้งนี้ หาก สกอ.จะดำเนินการก็ถือเป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ และขณะนี้ศูนย์กลางรับตรงของ สกอ.ก็ถือว่ายังไม่ปฏิสนธิ” ปธ.ทปอ.กล่าว

ผศ.ดร.พงษ์อินทร์ กล่าวว่า หลังจากนี้คณะทำงานฯ จะไปพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์รับตรงกลางของ ทปอ.เพื่อให้ดำเนินการได้ทันในปีการศึกษา 2555 โดยเบื้องต้นศูนย์ดังกล่าวจะทำหน้าที่รับสมัคร และประกาศผลการสอบรับตรงของมหาวิทยาลัยรัฐที่สังกัด ทปอ. ส่วนการจัดทำข้อสอบและจัดสอบในวิชาที่คณะต่างๆ ต้องการนั้น จะให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้ดำเนินการ โดยจะใช้ศูนย์สอบทั่วประเทศเช่นเดียวกับการสอบ GAT และ PAT ซึ่งจะทำให้เด็กไม่ต้องวิ่งรอกสอบ และประหยัดค่าใช้จ่ายด้วย

“หน้าที่ของการคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ใช่หน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่ง ทปอ.ตระหนักถึงหน้าที่ในการคัดเลือกเด็ก จึงได้สร้างเครื่องมือพัฒนาหลักการ และกฎเกณฑ์ในการสมัครสอบรับตรง อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้มีมหาวิทยาลัยของรัฐส่วนใหญ่ตอบรับที่จะเข้าร่วมกับศูนย์รับตรงกลางแล้ว จะมีเพียงมหาวิทยาลัยเล็กบางส่วนที่จะต้องกลับไปหารืออีกครั้ง” ผศ.ดร.พงษ์อินทร์ กล่าว

ผศ.ดร.พงษ์อินทร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อเสนอให้มหาวิทยาลัยปรับลดสัดส่วนการรับตรงไม่ให้เกิน 50% ในที่ประชุม ทปอ.ไม่ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันสัดส่วนการรับตรงของมหาวิทยาลัยต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่เกิน 50% อยู่แล้ว เพราะมีเด็กรับตรงสละสิทธิ์เพื่อไปสมัครแอดมิชชัน จึงทำให้จริงๆแล้ว สัดส่วนรับตรงไม่เกิน 50% ส่วนที่มีการนำเสนอข้อมูลออกมาก่อนหน้านี้ว่าสัดส่วนรับตรงของมหาวิทยาลัยบางแห่ง เกิน 50% นั้น น่าจะเป็นเพราะข้อมูลแผนการรับที่เสนอไปที่ สกอ.แต่เมื่อรับจริงๆ แล้วเด็กไม่ได้เข้าเรียน รับตรงเต็มตามจำนวน

ด้าน นายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวว่า ตนพอใจมติการแก้ปัญหารับตรงของ ทปอ.เพราะถือเป็นเรื่องที่ตนได้พยายามผลักดันมาโดยตลอด ทั้งเรื่องการสอบ GAT PAT จาก 3 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง และการตั้งศูนย์สอบตรงกลางร่วมส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้นตนไม่ติดใจ เพราะถือว่าการทำงานของตนประสบความสำเร็จแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น