xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงรับข่าวไทย-เขมร มากเกินไปส่งผลเครียด เตือนใช้ Social Media อย่างมีสติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ห่วงคนไทยรับข่าวไทย-เขมรมากเกินไป ส่งผลเครียดกระทบทั้งกาย-ใจ แนะสังเกตตัวเอง ลดความถี่การเสพสื่อ ห่วงผู้ประสบภัยในพื้นที่กระทบสูง อาจต้องได้รับความช่วยเหลือทางใจ แนะรักษาความเข้มแข็งชุมชน เตือน ประชาชนใช้ Social Media อย่างมีสติ

นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการติดตามข่าวการสู้รบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาของประชาชนว่า การรับข้อมูลข่าวสารอยู่ตลอดเวลา อาจทำให้เกิดความเครียดได้ หากการใช้เวลาอยู่กับข้อมูลนานหรือถี่มากเกินไป ทำให้เกิดอารมณ์ร่วมสูง โดยเฉพาะเมื่อรับชมผ่านโทรทัศน์ที่มีทั้งภาพและเสียง จะปลุกเร้าอารมณ์ได้มากกว่าสื่ออื่น หากเริ่มรู้สึกว่ามีอาการเครียดจากข่าวสาร ต้องลดความถี่ในการรับสื่อลง หรือปรับรูปแบบการรับเป็นการอ่านแทนจะช่วยลดอารมณ์ลงได้มาก

นพ.ประเวชกล่าวว่า ความเครียดจากการเสพข่าว สามารถส่งผลกระทบทั้งกาย เช่น ปวดเกร็งกล้ามเนื้อต้นคอ บ่า ไหล่ ปวดมึนศีรษะ ใจหวิว ใจสั่น รวมไปถึงมีอาการปวดมวนท้อง รับประทานอาหารไม่ได้ ในรายที่เป็นหนักจะมีอาการนอนไม่หลับร่วมด้วย ส่วนอาการทางใจ เช่น มีความคิดวนเวียนอยู่ในข่าวเรื่องนั้นๆ อารมณ์พลุ่งพล่าน วิตกกังวล กลัว หรือมีอารมณ์เสียใจ โกรธ แค้น หากเริ่มรู้สึกว่าตนเองมีอาการเหล่านี้ ควรต้องลดความถี่ในการเสพข่าวลงทันที นอกจากนี้ ต้องระวังการที่เด็กรับข่าวสารร่วมกับผู้ใหญ่ เพราะข่าวก็เหมือนกับสื่ออื่นๆ ที่เด็กยังไม่สามารถแยกแยะได้ อาจต้องควบคุมเวลาหรือรูปแบบการรับสื่อ

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวถึงประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบตามแนวชายแดนว่า ปกติผู้ที่อยู่ในภาวะภัยพิบัติจะกระตือรือร้นต่อการปรับตัว และเรียนรู้ที่จะป้องกันตนเอง เช่น การขอความช่วยเหลือจากทางหน่วยงานราชการ การอพยพครอบครัว ขณะเดียวกันหากเกิดการตื่นตัวมากเกินไป อาจทำให้ถึงขั้นนอนไม่หลับ ไม่สามารถควบคุมสมดุลภายในจิตใจของตนเองได้ เกิดความวิตกกังวลเกินเหตุ อยู่ในภาวะสิ้นหวัง ซึ่งถือเป็นภาวะที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ ทั้งนี้ หัวใจสำคัญที่จะช่วยได้ คือ ความเข้มแข็งของชุมชน เพราะการอพยพต้องอาศัยชุมชนช่วยเหลือกัน พลังที่เข้มแข็งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ส่งผลต่อการปรับตัวในระยะยาว

นพ.ยงยุทธกล่าวต่อว่า การรับข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียว จะทำให้เกิดความเครียดสูงได้ ควรเลือกรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่มีลักษณะเปิดกว้าง มีการแสดงทัศนะที่หลากหลาย,ปรับเปลี่ยนแนวคิดโดยมองในด้านบวก เช่น ความขัดแย้งระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องหาทางออกไม่ให้เกิดปัญหาบานปลาย ที่สำคัญ คือ ระมัดระวังการแสดงออกทางความเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เพราะถือเป็นสื่อหนึ่งที่ไม่เปิดเผยผู้แสดงความคิดเห็น จึงส่งผลให้เกิดการแสดงออกทางความเห็นที่รุนแรง ส่งผลให้เกิดความเครียดร่วมกันได้ ดังนั้น ควรจะใช้อย่างมีสติ
กำลังโหลดความคิดเห็น