รมว.สธ.เผย ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ได้เข้าสู่วาระการประชุมของสภาแล้ว 9 ร่าง นอกจากนี้ ยังมีอีก 1 ร่างที่กำลังรอขั้นตอนกระบวนการ ชี้ แพทย์สามารถแสดงความคิดเห็นได้ตามกติกา แต่ก็ต้องไม่กระทบต่อการรักษาผู้ป่วย
วันนี้ (7 ก.พ.) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการที่แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขที่นัดกันแต่งชุดดำเพื่อแสดงพลังคัดค้านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 ว่า ขณะนี้มีร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการด้านสาธารณสุข ได้รับการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของสภาแล้ว 9 ร่าง โดยเป็นร่างจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ร่างจากภาคประชาชน 1 ร่าง ร่างของคณะรัฐมนตรี 1 ร่าง และเป็นร่างของผู้แทนแพทย์ 1 ร่าง สำหรับร่างของผู้แทนแพทย์ขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้ให้การรับรองและบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระแล้วเป็น 1 ใน 9 ร่าง นอกจากนั้นยังมีร่างที่ 10 อีกหนึ่งร่าง ซึ่งเสนอโดยสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ กำลังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการที่จะขอคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นกฎหมายเกี่ยวเนื่องด้วยกัน และร่างดังกล่าวนี้ เกิดจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่ง ได้ไปร่วมหารือกับผู้แทนแพทย์และผู้แทนของผู้ป่วยและฝ่ายกฎหมายสภาทนายความและองค์กรอื่นๆ ขณะนี้น่าจะเรียกได้ว่ามี 9 ร่าง บวกกับอีก 1 ร่าง ซึ่ง 9 ร่างบรรจุในระเบียบวาระแล้ว อีก 1 ร่างกำลังรอขั้นตอนกระบวนการ
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ถัดจากนี้ไป สมมติว่า ถ้าวิปมีความเห็นที่จะหยิบยกร่างขึ้นมาพิจารณา ขั้นตอนต่อไปคือถ้าผ่านขั้นรับหลักการ ก็จะต้องมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อแปรญัตติในวาระที่ 2 ในส่วนของกรรมาธิการวิสามัญนั้น ผู้แทนแพทย์กลุ่มที่ได้มีการเสนอกฎหมายเข้าไป 1 ร่าง จะต้องมีผู้แทนเข้าไปร่วมเป็นกรรมาธิการได้จำนวน 1 ใน 3 ของกรรมาธิการทั้งหมด หาร 2 กับภาคประชาชน คือว่า ผู้เสนอร่างกฎหมายภาคประชาชน สามารถมีผู้แทนในกรรมาธิการได้ 1 ใน 3 กฎหมายจากภาคประชาชนมี 2 ร่าง ร่างของเอ็นจีโอ 1 ร่างกับร่างของตัวแทนแพทย์ 1 ร่าง คาดว่าจะสามารถหาร 2 คือ 1 ใน 3 ได้ เพราะฉะนั้นแพทย์จะต้องเตรียมเสนอรายชื่อแพทย์ที่จะร่วมเป็นกรรมาธิการส่วนนี้ไว้ ว่าจะเป็นใครบ้าง โดยไม่ฉุกละหุก
“ความเห็นของในกลุ่มแพทย์เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มี 2 ส่วนอยู่แล้ว คือ ส่วนที่เห็นด้วยกับส่วนที่ไม่ค่อยเห็นด้วย ส่วนการแสดงออกจะทำอย่างไรนั้น ผมเคารพสิทธิในการแสดงออกความคิดเห็นของแพทย์ แพทย์สามารถแสดงออกได้ตามกฎเกณฑ์กติกา แต่ที่สำคัญการแสดงออกใดๆก็ตาม จะต้องไม่กระทบต่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วย หรือทำให้ผู้ป่วยได้รับความเดือดร้อน” นายจุรินทร์ กล่าว