xs
xsm
sm
md
lg

หมอร้องผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา เหตุแพทยสภาไม่ยอมให้แพทย์ต่อใบอนุญาตฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มหมอร้องผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา เหตุแพทยสภา ไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ ตาม รธน.กรณีให้แพทย์ต่อใบอนุญาตฯ

แหล่งข่าวจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ปัจจุบันแพทย์ถูกฟ้องร้องมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการประกอบวิชาชีพไม่ได้มาตรฐาน จึงอยากให้แพทยสภาปรับเปลี่ยนการออกใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ให้กับผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านแพทยศาสตรบัณฑิต จากเดิมที่เป็นการออกใบอนุญาตฯ แบบตลอดชีพ มาเป็นต่อใบอนุญาตทุกๆ 5 ปี เพื่อเป็นการเปิดรับความรู้ใหม่ๆ ซึ่งปัญหา คือ มีการเรียกร้องและขอให้คณะกรรมการแพทยสภา เล็งเห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณา และแก้ไขเพิ่มเติมในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 อย่างต่อเนื่อง แต่จนถึงบัดนี้กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ

แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาเคยมีแพทย์ร้องไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ซึ่งล่าสุด ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินฯ ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ ผร. 24/3974 ถึงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเห็นว่า เจตนารมณ์ของการกำหนดให้มีการต่ออายุใบอนุญาตฯ คือ การพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้บริการและประชาชน ดังนั้น แพทย์ผู้ซึ่งประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ ตาม พ.ร.บ.ประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 ซึ่งจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ในส่วนที่เกี่ยวกับการให้บริการทางสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพแก่ประชาชนอย่างจริงจัง เหมือนวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ที่ได้ดำเนินการให้เกิดการบริการด้านสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานสากลและมีประสิทธิภาพแล้ว โดยกำหนดอายุใบอนุญาตของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลคราวละ 5 ปี ขณะที่ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์กลับไม่มีการดำเนินการ

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า ตนได้รับหนังสือจากผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาแล้ว และได้ทำหนังสือชี้แจงว่า แพทยสภาไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่เรื่องนี้มีความเห็นที่หลากหลายมาก แต่เบื้องต้นได้มีการวางแนวทางโดยไม่จำเป็นต้องแก้ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 แต่อาจใช้วิธีออกกฎข้อบังคับแพทยสภาแทน โดยใช้การต่อทะเบียนวิชาชีพแพทย์ทุกๆ 3 ปี โดยผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์จะต้องมีการฝึกอบรมองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มเครดิตทางวิชาการให้ตนเอง จากนั้นจะมีเกณฑ์ประเมินเพื่อให้สามารถต่อทะเบียนใบอนุญาตฯ โดยหมายความว่า แม้จะมีใบอนุญาตวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งเป็นแบบตลอดชีพเหมือนเดิม แต่แพทย์รายดังกล่าวจะไม่สามารถประกอบวิชาชีพได้ มีเพียงความเป็นแพทย์เท่านั้น สิ่งสำคัญจะต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อต่อทะเบียนอย่างต่อเนื่องทุกๆ 3 ปี จึงจะสามารถประกอบวิชาชีพนี้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น