xs
xsm
sm
md
lg

หนึ่งศตวรรษ “กาดหลวง” มนต์เสน่ห์วันวานมิจางหาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...ทิติยา เถาธรรมพิทักษ์

กาดหลวง” หรือ “ตลาดวโรรส” ถือเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญ และมีประวัติศาสตร์ยาวนานอีกแห่งของ “เชียงใหม่” โดยสร้างขึ้นครั้งแรกปี 2453 โดยพระชายาเจ้าดารารัศมีที่มีพระประสงค์จะสร้างตลาดขึ้น จึงได้มีการรวบรวมเงินส่วนพระองค์ร่วมกับเงินจากเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ผู้ครองนครเชียงใหม่ในสมัยนั้น ตลาดแห่งนี้จึงได้ตั้งชื่อตามพระนามของเจ้าอินทวโรรสฯแต่ชาวบ้านมักจะเรียกว่ากาดหลวง
ตลาดวโรรสในปัจจุบัน
กาดหลวงมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยจนกระทั่งปี 2511 เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้บริเวณตลาดวโรรส และตลาดต้นลำไย ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง แต่กระนั้นชุมชนแห่งนี้ก็ยังมีความเหนียวแน่นรวมตัวกันเพื่อสร้างตลาดขึ้นมาอีกครั้ง จนถึงปัจจุบันชุมชนบริเวณกาดหลวงก็ยังประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา ทั้งชาวจีน ชาวอินเดีย และชาวพื้นเมือง

ในปี 2553 ตลาดวโรรสมีอายุครบหนึ่งศตวรรษ ซึ่งไม่ใช่เรื่อง่ายที่สถานที่สักแห่งจะมีอายุยาวนานนับร้อยปี รวมทั้งยังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมิเสื่อมคลาย

นายสมยศ นิมมานเหมินท์ หนึ่งในทายาทรุ่นที่ 4 ของหลวงอนุสารสุนทร ผู้ซึ่งเป็นคนก่อตั้งห้างชัวย่งเสง หรือ ห.ส.น.อนุสารเชียงใหม่ และบริษัท เชียงใหม่พาณิชย์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารกิจการตลาดวโรรสในปัจจุบัน เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ไฟไหม้เมื่อปี 2511 ก็ได้มีการสร้างตลาดขึ้นมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้อยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมจึงมีการทำเป็นห้องแถวล้อมรอบตลาด และขายห้องแถวเหล่านั้นให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่มาขายของอยู่ เพื่อให้พวกเขามีกรรมสิทธิ์และเป็นเจ้าของร่วมกัน ส่วนบริษัทเชียงใหม่พาณิชย์ก็มีเฉพาะส่วนกลางที่ยังเหลืออยู่ จากตรงส่วนนี้ก็ยิ่งทำให้ชาวกาดทุกคนยิ่งรวมตัวกันเหนียวแน่นมากขึ้น
ตลาดวโรรสในอดีต
เมื่อก่อนคนเชียงใหม่ทั้งในตัวเมือง หรือต่างอำเภอ ก็จะมาซื้อของทั้งที่กาดหลวง และตลาดต้นลำไย แต่ตอนนี้เปลี่ยนไป จากคนค้าที่ขายส่งก็ขายน้อยลง ประกอบกับแต่ละอำเภอก็มีตลาดเป็นของตัวเอง กาดจึงมีการพัฒนาไปเป็นการขายของฝากของพื้นเมืองให้แก่นักท่องเที่ยว แม้ในอนาคตจะอีกกี่ปีหรือจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรเราก็ยังจะรักษาเอกลักษณ์ วัฒนธรรมของกาดหลวงเอาไว้ตลอดไป

ขณะที่นางพรรณี จันทนโพธิ์ แม่ค้าขายขนมของฝากเจ้าแรกๆ ของกาดหลวง เล่าย้อนถึงวันวานด้วยภาษาคำเมืองให้ฟังว่า ขายของที่นี่มาตั้งแต่อายุ 15 ปี ปัจจุบันอายุ 74 ปีแล้ว จึงเห็นการพัฒนาของกาดหลวงมาตลอด เมื่อก่อนพ่อค้าแม่ค้าที่มาค้าขายจะต้องนั่งขายกับพื้น ไม่มีแผงให้วางของขายเหมือนปัจจุบัน เมื่อฝนตก หรือแดดออกก็ต้องเอาร่มมากาง การค้าขายก็คึกคักมีประชาชนมาซื้อของกันตลอด ขายดีมีเงินเก็บ มีความรักใคร่กันดีระหว่างคนไทย คนจีน คนอินเดียที่มาขายของที่นี่

น่าปลื้มใจอย่างยิ่ง ที่ตลาดมีอายุยืนยาวขนาดนี้ ไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนไปอย่างไรหรือคนรุ่นปู่ย่าตายายจะจากไป แต่คนรุ่นใหม่บางส่วนก็มาสืบทอดกิจการต่อจากบรรพบุรุษ เพราะนี่คือกาดหลวงสถานที่ที่เป็นเอกลักษณ์ของเชียงใหม่ และคิดว่าตนเองก็ยังจะขายของที่ตลาดนี้ต่อไป
บรรยากาศโดยรอบตลาดวโรรส
ด้านน.ส.ปรีดาพร ไวทยาการ นักศึกษาปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกเล่าความรู้สึกในฐานะคนรุ่นใหม่และผู้สนใจประวัติศาสตร์ของกาดหลวงให้ฟังว่า กาดหลวงมีเสน่ห์เป็นตลาดที่เก่าแก่ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง มีกลุ่มชนหลายเชื้อชาติมาอยู่ร่วม สิ่งเหล่าก็ทำให้เกิดการค้าขายที่เหมือนแรงขับเคลื่อนให้เมืองเติบโตขึ้น รวมทั้งเรื่องราวในอดีตก็น่าสนใจควรจะส่งเสริมให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ดังนั้น ในฐานะที่เป็นรุ่นใหม่และคนเชียงใหม่ก็อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันรักษาสิ่งดีๆ ของกาดหลวงเอาไว้ เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศมากขึ้น

แม้เวลาจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยหรือต้องเผชิญกับเหตุการณ์มากมายแค่ไหน แต่ความรัก สามัคคี รวมถึงวัฒนธรรมของกาดหลวงแห่งนี้ก็ไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับใครที่อยากสัมผัสวิถีชีวิต บรรยากาศความรักใคร่ของคนหลากเชื้อชาติ ก็ถือโอกาสที่กาดหลวงมีอายุครบ 100 ปีมาเที่ยวเยี่ยมชมก็นับว่าดีไม่น้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น