xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” อนุมัติขึ้นทะเบียนนักทัศนมาตรฯ 13 ครั้งแรกในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในหนังสืออนุญาตให้ผู้ที่สำเร็จระดับปริญญาตรีในสาขาทัศนมาตรศาสตร์ หรือเทียบเท่า ที่สอบผ่านความรู้ตามเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 13 ราย สามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะในสาขาดังกล่าวได้

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในหนังสืออนุญาตให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาทัศนมาตรศาสตร์ (Optometry) ที่สอบผ่านมาตรฐานความรู้ทั้งภาคทฤษฎีวิชาชีพ ภาคปฏิบัติวิชาชีพ ทฤษฎีกฎหมายและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพตามประกาศคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ จำนวน 13 ราย ให้สามารถขึ้นทะเบียนประกอบโรคศิลปะ โดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 2 พ.ศ.2546 เรื่องการอนุญาตให้บุคคลทำการประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์มีกำหนดให้ต่ออายุหนังสืออนุญาตทุก 2 ปี นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

นพ.สุพรรณ กล่าวต่อว่า นักทัศนมาตรศาสตร์ สามารถประกอบโรคศิลปะได้ตามกฎหมาย ได้แก่ การตรวจวัด วินิจฉัยความผิดปกติสายตาการแก้ไขฟื้นฟูความผิดปกติการมองเห็นด้วยการใช้แว่น คอนแท็คเลนส์ขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้ประกอบอาชีพสาขานี้เพียง 13 คนเท่านั้น

นพ.สุพรรณ กล่าวต่อไปว่า วิชาชีพทัศนมาตรศาสตร์เป็นการประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับการตรวจและทดสอบระบบการมองชัดของสายตา การทดสอบระบบการเคลื่อนไหวของดวงตา ตรวจคัดกรองสายตาที่ผิดปกติส่งต่อแพทย์ตามความเหมาะสม และแก้ไขฟื้นฟูความผิดปกติของการมองเห็นโดยการใช้แว่นตาเลนส์สัมผัส หรือคอนแทกต์เลนส์ และการฝึกการบริหารกล้ามเนื้อตา ซึ่งไม่รวมถึงการแก้ไขความผิดปกติเนื่องจากระบบประสาทตา หรือโรคทางตาที่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของการหักเหของแสงการแก้ไขความผิดปกติ โดยการใช้ยาหรือการผ่าตัด และการใช้เลเซอร์ชนิดต่างๆ

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้กำหนดให้สาขาทัศนมาตรศาสตร์เป็นสาขาหนึ่งของการประกอบโรคศิลปะใน พ.ศ.2546 โดยเป็นสาขาวิชาด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและเป็นหลักสูตรเดียวในระดับปริญญาตรี ที่เน้นการตรวจวินิจฉัยปัญหาในด้านสายตาและสุขภาพตาโดยตรงเป็นไปตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 ที่ผ่านมา มีผู้เรียนน้อยมาก เนื่องจากมักจะมีคนเข้าใจผิดว่าผู้ที่เรียนหลักสูตรนี้มีหน้าที่หลักในการประกอบแว่นสายตาหรือเปิดร้านตัดแว่นทั่วๆ ไปเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น