xs
xsm
sm
md
lg

“พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน” เกียรติแห่งวิชาชีพ “เรือจ้าง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เนื่องจากวันที่ 16 ม.ค.ของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญหนึ่งของวงการการศึกษาไทย ที่ยกให้เป็น “วันครู” เพื่อสร้างความตระหนักแก่คนทั่งประเทศให้เล็งเห็นถึงความสำคัญ พร้อมทั้งยังเป็นการเชิดชูวิชาชีพ “เรือจ้าง” ให้อยู่คู่แผ่นดินไทย

สำหรับในปีนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษแก่วิชาชีพครูอย่างยิ่ง สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2553 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบในการขอพระราชทานน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญานาม “พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เสนอ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษษา 84 พรรษา และด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีต่อวงการการศึกษาไทย ตลอดจนต้องการยกระดับวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง
ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ
ในเรื่องนี้ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) อธิบายว่า คำว่าพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดินนั้นได้อยู่ในใจของพสกนิกรชาวไทยมาอย่างช้านานแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีการดำเนินการในลักษณะที่เป็นทางการ ซึ่งเท่าที่สังเกตในการอภิปรายด้านการศึกษาทั่วไป ทุกคนจะเทิดพระเกียรติให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นครูแห่งแผ่นดินมาโดยเสมอ

ศ.พิเศษ ธงทอง ชี้ให้เห็นว่า ในโอกาสที่มีการประกาศพระราชสมัญญานามพระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดินขึ้นนั้น อย่างน้อยจะเป็นความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้คำว่า “ครู” กลับมามีความหมายอีกครั้ง ตลอดจนทำให้คนที่จะก้าวเข้ามาเป็นครูมีความมั่นใจในอาชีพนี้มากขึ้น หลังจากในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าค่านิยมในวิชาชีพครูถดถอยลงไปมาก

“ตรงนี้ถือเป็นความหมายเชิงสัญลักษณ์ให้เห็นว่าคำว่าครูยังคงเป็นคำที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นคำที่อยู่ในความเคารพนับถือของคนไทยทั้งหลาย ซึ่งจะเป็นแรงใจให้ผู้ที่เป็นครูอยู่แล้วเกิดความมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ของตัวเอง ขณะเดียวกันสำหรับผู้ที่คิดจะก้าวเข้ามาอยู่ในวิชาชีพนี้จะได้มั่นใจว่าเขาเลือกเดินเข้ามาสู่อาชีพที่มีเกียรติ และเลือกไม่ผิดที่มายืนอยู่ตรงนี้” เลขาธิการ สกศ.ขยายความ

ศ.พิเศษ ธงทอง ยังฝากทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า การที่จะทำให้ครูมาเป็นวิชาชีพชั้นสูง ไม่ใช่เพียงแค่การดำเนินการอย่างจริงจังในช่วงการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 แต่จะต้องดำเนินการอย่างจริงจังต่อไป เพราะการประกาศพระราชสมัญญานามครั้งนี้ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการรักษาไว้ซึ่งเกียรติของวิชาชีพครูนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น