xs
xsm
sm
md
lg

กรมสวัสดิการฯ เผย นายจ้างไม่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่งปรับ ลูกจ้างร้องได้ทุกจังหวัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
กรมสวัสดิการฯ ชี้ นายจ้างที่ไม่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่งปรับ ลูกจ้างร้องได้ทุกจังหวัด หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ ส่วนลูกจ้างต่างด้าวที่ถูก กม.มีสิทธิร้องได้เช่นกัน

วันนี้ (4 ม.ค.) ที่กระทรวงแรงงาน นางอัมพร นิติศิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่มีลูกจ้างร้องเรียนสถานประกอบการบางรายที่ไม่ได้จ่ายเงินเดือนตามที่ได้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ที่ปรับขึ้นตั้งแต่ 8-17 บาท ทั่วประเทศ โดยได้มีการบังคับใช้ ในวันที่ 1 มกราคม 2554 ว่า ถ้ามีการไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำก็ขอให้ลูกจ้างหรือผู้เสียหายร้องต่อเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในทุกจังหวัด

นางอัมพร กล่าวอีกว่า โดยทั่วไปลูกจ้างรายวัน จะได้เงินเดือนทุก 15 วัน โดยจะทำงานประมาณ 26 วันต่อเดือน ซึ่งเงินเดือนจะออกอย่างช้าที่สุดไม่เกิน 3 วัน ถ้าเริ่มทำงานวันที่ 1 ถึงวันที่ 15 จะได้เงินเดือนอย่างช้าไม่เกินวันที่ 18 และลูกจ้างที่รับเงินแบบรายเดือน ถ้าเริ่มทำงานวันที่ 1 จนถึงวันที่ 31 จะได้รับเงินเดือนอย่างช้าไม่เกินวันที่ 3 ถ้าผู้ประกอบการไม่ดำเนินการตามกฎหมายที่กำหนดก็ขอให้ลูกจ้างร้องต่อเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในทุกจังหวัด โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นางอัมพร กล่าวต่อว่า จากที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานออกตรวจ พบว่า ปี 2553 มีผู้ประกอบการร้อยละ 2.63 ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย คิดเป็นผู้ไม่ปฏิบัติตาม 31 ราย ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 15 ราย ปรับไปแล้วกว่า 157,600 บาท ซึ่งนายจ้างต้องรายงานสภาพการจ้างเป็นประจำ อีกทั้งทางกรมสวัสดิการฯ ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ในการประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่รับทราบ ซึ่งลูกจ้างจะต้องรักษาสิทธิของตัวเองด้วยเช่นกัน

“ลูกจ้างต่างด้าว 3 สัญชาติ (พม่า ลาว กัมพูชา) ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ และขออนุญาตทำงานอย่างถูกต้องนั้น มีสิทธิในการร้องเรียนเช่นเดียวกับลูกจ้างคนไทย หากไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราใหม่ สามารถร้องเรียนไปโดยตรงไปยังสวัสดิการคุ้มครองแรงงานพื้นที่ทั้ง 10 เขต และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ” อธิบดีกรมสวัสดิการฯ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น