xs
xsm
sm
md
lg

จี้ “มาร์ค” เซ็นคุมโฆษณาเหล้า เจอเย้ยกฎหมายผ่านสื่อเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการ จี้ “มาร์ค”  เร่งออกกฎกระทรวง  แก้ปัญหาความไม่ชัดเจนโฆษณา เหล้า - เบียร์ ระบุที่ผ่านมาโฆษณาอย่างเสรี โจ่งแจ้ง ไม่เกรงใจกฎหมาย พบทำผิดโผล่ช่องทางสื่อทั้ง นสพ. นิตยสาร  เว็บไซต์ เพียบ 
 
ดร.ปาริชาติ สถาปิตานนท์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายนักวิชาการเพื่อเฝ้าระวังปัญหาแอลกอฮอล์ กล่าวถึงกรณีที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาวาระการออกกฎกระทรวงเรื่อง การห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ตามมาตรา 32  ของ  พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2551 ในวันอังคารที่ 23 มี.ค. นี้ ว่า  ควรมีการออกกฎกระทรวง  เพื่อกำหนดรายละเอียดการโฆษณาและการทำการตลาดของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ตามมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2551 เพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีความชัดเจนในทางปฏิบัติว่ารัฐบาลจะออกกฎกระทรวง ทั้งที่ผ่านขั้นตอนต่างๆ  ของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธาน และคณะกรรมการนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน  รวมถึงการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ผ่านการเห็นชอบแล้ว รอเพียงนายกรัฐมนตรีลงนามเพื่อให้มีผลบังคับใช้เท่านั้น 

ดร.ปาริชาติ กล่าวต่อว่า  ที่ผ่านมาในช่วงที่ยังไม่มีกฎกระทรวง มีการตีความที่แตกต่างกัน บางคนอาจมองว่าสามารถโฆษณาได้อย่างเสรี จึงทำให้กลุ่มธุรกิจแอลกอฮอล์โฆษณาอย่างโจ่งแจ้งทำให้เป็นช่องว่างในการโฆษณาที่เพิ่มขึ้น เพราะหากดูข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2552 ที่สำรวจและรับเรื่องการร้องเรียนจากประชาชน ที่มีการกระทำผิดพ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนี้ หนังสือพิมพ์ มีจำนวน  2,308   ครั้ง  นิตยสาร  จำนวน 1,179  ครั้ง และอินเทอร์เน็ต  จำนวน   5,729   ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการกระทำผิดด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่ยังมีการแสดงภาพผลิตภัณฑ์และจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆ ผ่านสื่อและกิจกรรมกลางแจ้งอีกจำนวนมาก
 
“หากยังไม่มีการออกกฎกระทรวงเพื่อป้องกันกลุ่มธุรกิจไม่ให้มีการโฆษณาเหล้า - เบียร์ จะส่งผลกระทบหลายด้าน  โดยเฉพาะนักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นกลุ่มเยาวชน เพราะที่ผ่านมามีการทำโฆษณาทั้งรูปแบบการจัดคอนเสิร์ต  กีฬา หรือกิจกรรมกลางแจ้ง  ซึ่งการจัดกิจกรรมแต่ละครั้งมีการตั้งบูธ โดยธุรกิจแอลกอฮอล์ให้การสนับสนุน เพียงเพื่อหวังสร้างภาพลักษณ์และผลกำไรเท่านั้น อีกทั้งในงานมีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมอยู่ด้วย ทำให้เกิดปัญหาต่างๆมากมาย โดยที่ผู้จัดงานกิจกรรม ไม่เคยรับผิดชอบกับปัญหาอุบัติเหตุที่จะตามมา”  ดร.ปาริชาติ กล่าว 
กำลังโหลดความคิดเห็น