xs
xsm
sm
md
lg

วธ.ขนศิลปินร่วมสมัยไทย-ญี่ปุ่น กระตุ้น ศก.สร้างสรรค์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธีระ สลักเพชร รมว.วธ.
วธ.ขนศิลปินร่วมสมัยไทย-ญี่ปุ่น จัดนิทรรศการวัฒนธรรมสรรค์สร้าง “ไทยโย” กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ “ธีระ” เชื่อศิลปะเพิ่มมูลค่า ศก.ได้

วันนี้ (4 มี.ค.) นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า วธ.ได้ร่วมกับ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดนิทรรศการวัฒนธรรมสรรค์สร้าง เศรษฐกิจสร้างสรรค์ : ไทยโย ศิลปะร่วมสมัย ไทย-ญี่ปุ่น ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 8 เมษายน 2553 โดยรวบรวมผลงานของเหล่าศิลปินไทยในหลากหลายสาขา เช่น วิจิตรศิลป์ ประยุกต์ศิลป์ งานออกแบบและผลงานสร้างสรรค์ สถาปัตยกรรม แฟชั่น การ์ตูน แอนิเมชัน ภาพยนตร์ ดนตรี และศิลปะพับกระดาษของญี่ปุ่น จำนวนกว่า 30 คน อาทิ สุเทพ วงศ์คำแหง ญาณวิทย์ กุญแจทอง นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล พินรี สัณฑ์พิทักษ์ ยุรี เกนสาคู กุลภัทร ยันตรศาสตร์ (ศิลปินศิลปาธร พ.ศ.2552) และวิศุทธิ์ พรนิมิต เป็นต้น

นายธีระ กล่าวด้วยว่า โครงการนี้อยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 สาขาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ที่สนับสนุนแผนแม่บทกระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ.2550-2559 ตนเชื่อว่าผลงานสร้างสรรค์ทางศิลปกรรมสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจของชาติได้ ตามยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่กำหนดไว้ในแนวนโยบายพัฒนาประเทศของรัฐบาล โครงการนี้จึงเป็นเหมือนกรณีศึกษาว่า ศิลปกรรมสามารถสนับสนุนความสามารถในการสร้างสรรค์ของคนไทยให้พัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้อย่างดี

ด้าน ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า นิทรรศการในครั้งนี้เป็นการแสดงผลงานศิลปวัฒนธรรมของศิลปิน และนักออกแบบชาวไทยที่มีประสบการณ์การศึกษาจากประเทศญี่ปุ่น และผู้สร้างสรรค์ผลงานขึ้นด้วยแรงบันดาลใจจากเนื้อหาหรือเรื่องราว กระบวนการคิด รูปแบบทางศิลปวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ โดยแสดงให้เห็นถึงการถ่ายเททางศิลปวัฒนธรรมที่ผสมผสานก่อตัวขึ้นจากยุคสมัยของวัฒนธรรมประชานิยม (Pop Culture) อันนำมาสู่คุณค่าใหม่ นอกเหนือจากการนำเสนอคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ที่ถือเป็นพัฒนาการทางศิลปวัฒนธรรม

“นิทรรศการในครั้งนี้เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านการใช้ชีวิต การทำงาน ในดินแดนอาทิตย์อุทัยจากวิถีชีวิต ศิลปะ วัฒนธรรม ในหลากหลายปรากฏการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศิลปะร่วมสมัยที่มีการนำเรื่องราว แนวความคิด ความเชื่อรูปแบบทางศิลปะมาปรับเปลี่ยนและพัฒนาสร้างสรรค์ จนเกิดเป็นผลงานใหม่ที่มีคุณค่าทางความงามและยังนำมาสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอีกด้วย”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในนิทรรศการมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม การแสดง BUTO โดย ธีระวัฒน์ มุลวิไล (คาเงะ) วันเสาร์ที่ 13 มี.ค.จัด Workshop สอนทำสมุดทำมือญี่ปุ่น โดย Piece of Paper วันอาทิตย์ที่ 28 มี.ค.การวาดภาพประกอบเพลงโดย พีรพัฒน์ กิตติสุวัฒน์ วันเสาร์ที่ 3 เม.ย.Workshop Origami โดย เอกสิทธิ์ เข้มงวด ผู้สนใจเข้าชมได้ตั้งแต่วันอังคารถึงวันอาทิตย์ เว้นวันจันทร์ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น 8 วันนี้ถึง 8 เม.ย.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น