“ชินวรณ์” รับลูก คตม. สั่งครูทั่วประเทศช่วยเช็คสถานการณ์ “แดงป่วนเมือง” หวั่นมือที่สามปลุกปั่น เร่งส่งเสริมสภานักเรียน - สโมสรนักศึกษาตื่นตัวทางการเมือง ไม่ตกเป็นเครื่องมือกลุ่มก่อความรุนแรง
วันนี้ (18 ก.พ.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ความมั่นคง(คตม.) ที่ให้หน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบรายงานผลของการปฏิบัติงานในการรักษาความปลอดภัย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้รับมอบหมายให้ไปชี้แจงทำความเข้าใจในสถานศึกษาว่า ตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการติดตามและได้ร่วมประชุมทั้ง 8 แผนงานดังกล่าวด้วย ซึ่งในส่วนความรับผิดชอบที่ ศธ.ได้รับมอบหมายนั้นจริงๆ เป็นส่วนที่กระทรวงได้เตรียมติดตามอยู่แล้วทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยระยะสั้น จะเป็นการดูแลเรื่องความปลอดภัยของสถานที่ราชการทั้งในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่เป็นพื้นที่เป้าหมาย เช่น ศาลากลางในจังหวัดต่างๆ ซึ่งเป็นสมบัติของชาติ
“ขอให้เพื่อนข้าราชการได้ตระหนักถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแม้จะวิเคราะห์แล้วว่าคงจะไม่นำไปสู่ความรุนแรงแต่ทุกฝ่ายต้องดูความเคลื่อนไหวเพราะเกรงว่าอาจจะนำไปสู่การปลุกปั่นของมือที่สาม เรามีข้าราชการครูทั่วประเทศถึง 700,000 คน หากเป็นหู เป็นตาก็จะเป็นประโยชน์กับเรื่องนี้ ซึ่งผมก็ถือว่าครูเป็นข้าราชการที่เป็นกลไกของรัฐดังนั้นจึงถือเป็นหน้าที่ที่จะช่วยกันดูแลไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนการนำข้อมูลที่ถูกต้องไปสู่เพื่อนครู นักเรียน ข้าราชการและประชาชนนั้น ศธ.จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่” รมว.ศธ.กล่าว
นายชินวรณ์กล่าวต่อว่า สำหรับแผนระยะกลางทาง ศธ. คิดว่าจะต้องใช้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาทำให้เกิดการเรียนรู้ในระบอบประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้น โดนส่งเสริมกิจกรรมของสภานักเรียนและสโมสรนักศึกษาให้ได้มีการตื่นตัวซึ่งเป็นเรื่องนี้อยู่ในแผนงานของแต่ละมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว และส่วนมหาวิทยาลัยที่อาจจะเป็นเป้าหมายที่จะใช้นักศึกษาหรือใช้พื้นที่กระทำความรุนแรงโดยไม่ถูกต้องก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ส่วนระยะยาวตามนโยบายของ ศธ.จะต้องทำความเข้าใจและสร้างให้นักเรียนที่จบออกมาเข้าใจกติกาของสังคม เคารพผู้อื่น มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
ล่าสุด นายชินวรณ์เปิดเผยภายหลังการประชุมกับผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ถึงมาตรการป้องกันการปลุกระดมในสถานศึกษา ตามแผนมาตรการป้องกันรักษาความปลอดภัย 8 แผนที่ คตม.ได้มอบหมายว่า ตนได้ชี้แจงถึงสถานการณ์ความมั่นคงและแผนมาตรการรักษาความปลอดภัยทั้ง 8 แผนให้ที่ประชุมได้รับทราบ โดยในส่วนของการป้องกันการปลุกระดมในสถานศึกษานั้นตนเองได้ขอให้ใช้ชื่อว่ามาตรการในการประสานงานและเฝ้าระวังในสถานการณ์เกี่ยวกับความมั่นคงในสถานศึกษา โดยที่ประชุมได้เห็นชอบในแผนระยะสั้น คือการดูแลความปลอดภัยกระทรวงศึกษาธิการ สถานศึกษาในกรุงเทพมหานครและพื้นที่เป้าหมาย การให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาตระหนักถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อป้องกันการปลุกระดมและการปลุกปั่นจากมือที่สาม รวมถึงการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องแก่นักเรียน ประชาชนทั่วไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) จัดตั้งคณะทำงานและเป็นศูนย์กลางในการประสานงานเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยนำข้อมูลจากสายด่วน ศธ.1579 ไปประสานงานกับผู้ที่มีอำนาจการตัดสินใจของแต่ละองค์กรหลัก และในส่วนภูมิภาคนั้นได้ขอให้หัวหน้าศูนย์ราชการต่างๆ เช่น ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(ผอ.สพท.) หรือผู้อำนวยการสถานศึกษาได้ประสานกับกองอำนวยการักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จังหวัดติดตามสถานการณ์ นอกจากนั้นยังได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ทั้ง 2 คน ติดตามและประสานงานได้ตลอดเวลา