xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เตรียมรับภาระค่าทำหมัน-ฝังชิป แก้ปัญหาหมาจรจัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
กทม.เตรียมรับภาระค่าทำหมัน ฝังชิปสุนัขแทนเจ้าของ ประสานเครือข่ายภาครัฐเอกชน ประชาชนร่วมแก้ปัญหาสุนัขจรจัดในพื้นที่ คาดหากทุกฝ่ายร่วมมืออีก 6-10 ปี สุนัขจรและโรคพิษสุนัขบ้าจะหายไปจากเมืองกรุง

พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดในเขต กทม. โดยมีผู้แทนภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กทม. กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาแนวทางควบคุมการเพิ่มจำนวนสุนัขจรจัด และป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงสุนัขด้วยความรับผิดชอบโรงพยาบาลสัตว์เอกชน 140 แห่ง พร้อมร่วมมือ

พญ.มาลินี กล่าว ปัจจุบัน กทม.ได้เร่งควบคุมจำนวนสุนัขจรจัดในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิที่ภาพและได้ผลโดยเร็ว จึงได้ขอความร่วมมือไปยังภาคเอกชนในการควบคุมจำนวนสุนัขจรจัด รวมถึงป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ด้วยการทำหมัน และฝังไมโครชิพสุนัขฟรีแก่เจ้าของ โดย กทม.เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้
 
ซึ่งจากการสอบถามความสมัครใจเข้าร่วมโครงการต่างๆ มีโรงพยาบาลสัตว์/คลินิกรักษาสัตว์เอกชนสมัครเข้าร่วมโครงการฝังไมโครชิปสุนัข 55 แห่ง เข้าร่วมโครงการผ่าตันทำหมัน 44 แห่ง และร่วมทั้ง 2 โครงการ 41 แห่ง โดยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 400-500 บาทต่อตัวซึ่งจะรวมทั้งการทำหมัน ฝังไมโครชิป และทำสัญลักษณ์ให้สุนัขเพื่อทราบว่าทำหมันแล้ว ซึ่ง กทม.จะเร่งดำเนินการในรายละเอียดและค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ถูกต้องตามระเบียบ และให้บริการแก่ผู้เลี้ยงสุนัขโดยเร็ว
 
นอกจากนี้ กทม.ยังมีแนวทางในการจัดสถานที่พักพิงสุนัข และจัดทำสวนสาธารณะสำหรับสุนัขให้เจ้าของสามารถนำสุนัขไปเดินเล่น ออกกำลังกาย เพื่อให้สุนัขได้ผ่อนคลาย ลดความเครียด ลดความดุร้าย จากการอยู่แต่ในบ้าน ห้องแคบๆ หรือกรงขังเพียงอย่างเดียว โดยให้เจ้าหน้าที่สำรวจพื้นที่สวนวชิรเบญจทัศ ก่อนเสนอรายงานต่อที่ประชุมอีก 1 เดือน

พญ.มาลินี กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาสร้างความร่วมมือระหว่างประชาชน และชุมชนที่ดูแลสุนัขจรจัดอยู่แล้ว โดยจะให้เงินสนับสนุน แต่จะต้องมีกฎเกณฑ์ปฏิบัติ เช่น การทำหมันสุนัข ดูแลความสะอาด ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือรายละเอียด อย่างไรก็ตาม หากการดำเนินการเป็นไปตามระบบหรือแนวทางที่วางไว้ คาดว่าภายใน 6-10 ปี จะสามารถแก้ปัญหาสุนัขจรจัด และป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น