“จุรินทร์” สั่ง อย.คุมเข้มปลา-ผลิตภัณฑ์ปลานำเข้า ภายหลัง AFTA ประกาศใช้ ชี้ต้องได้คุณภาพตามมาตรฐาน ต้องปฏิบัติตามประกาศ สธ.4 ฉบับอย่างเคร่งครัด เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคคนไทย หากพบละเมิดเจอดำเนินการทางกฎหมายแน่
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2553 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้มีการเปิดการค้าเสรีไทย-อาเซียน ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าประเภทปลาและผลิตภัณฑ์เข้ามาจำหน่วยในประเทศเป็นจำนวนมาก และเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้คนไทยได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คุมเข้มด้านความปลอดภัยอาหารนำเข้าดังกล่าวอย่างเข้มงวด ผู้นำเข้าจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานของ สธ.ตามกฎหมาย 4 ฉบับได้แก่ 1.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ.2529 เรื่องมาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน และประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 273 พ.ศ. 2546 เรื่องมาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน (ฉบับที่ 2) 2. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 288 พ.ศ.2548 เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง 3.ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 303 พ.ศ.2550 เรื่องอาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง และ 4. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องมาตรฐานอาหารด้านจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค หากพบไม่ได้มาตรฐานให้ดำเนินการทางกฎหมายทันที ทั้งนี้เพื่อป้องกันปลานำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐานมาตีตลาดปลาไทยด้วย
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า การนำเข้าสินค้าประเภทอาหารมาจำหน่ายในประเทศ ผู้นำเข้าจะต้องได้รับใบอนุญาตนำเข้าอาหารจาก อย. และต้องผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ด่านอาหารและยา เพื่อสุ่มตัวอย่างตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานทุกครั้งอย่างเข้มงวด เช่น โลหะหนักต่างๆ อาทิ สารปรอท สารตะกั่ว เชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค และฟอร์มาลิน เป็นต้น
“หากตรวจพบว่าผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ปลอดภัย จะดำเนินคดีกับผู้นำเข้าตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในการนำเข้าครั้งต่อไป สินค้าจะถูกนำเข้าระบบกักกันด้วยการอายัดไว้ 3 ครั้งติดต่อกัน พร้อมทั้งทำการสุ่มตัวอย่างส่งตรวจคุณภาพมาตรฐาน หากสินค้าได้มาตรฐานและปลอดภัย จึงจะถอนอายัดให้จำหน่ายได้ แต่หากไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ปลอดภัย จะส่งสินค้ากลับคืนประเทศต้นทางหรือทำลายสินค้าดังกล่าวทั้งหมด” รมว.สธ.กล่าว