เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้เปิดตัวเครื่องมือและวิธีการตรวจเส้นประสาทของผู้ป่วยโรคเรื้อนด้วยวิธีใหม่ ที่เพิ่งจะนำมาใช้ในประเทศไทย เครื่องมือนั้นก็คือเจ้าเครื่องที่มีชื่อว่า “โมโนฟิลเมนต์” (Monofilament) ซึ่ง นพ.กฤษฎา มโหทาน แห่งสถาบันราชประชาสมาสัย ได้บอกถึงที่มาที่ไปและให้ภาพการทำงานของเครื่องดังกล่าวนี้ให้เข้าใจง่ายๆ ว่า เครื่องนี้ไม่ใช่ของใหม่ หลายประเทศใช้กันมานานแล้ว โดยใช้เพื่อตรวจอาการเส้นประสาทอักเสบ การรับความรู้สึกของผู้ป่วยด้วยโรคที่มีอาการที่กล่าวมาแล้ว เช่นโรคเบาหวานและโรคเรื้อน
“ส่วนประกอบหลักของเครื่องโมโนฟิลาเมนต์นี้ คือส่วนที่เป็นเส้นเอ็นเล็กๆ มีลักษณะคล้ายๆ ไนลอนที่มีน้ำหนักและขนาดต่างกันไป มีทั้งหมด 5 เส้น อธิบายให้เห็นภาพชัดๆ ก็คือ เส้นเล็กสุดหน้าตาจะเหมือนขนแปรงยาสีฟัน ส่วนเส้นใหญ่หน่อยก็เหมือนขนแปรงซักผ้า เดิมทีก็ใช้กับหลายโรค เช่นโรคเบาหวาน แต่รอยโรคของโรคเบาหวานนี่จะมีข้อจำกัด คือเมื่อเกิดอาการชาก็จะชาแล้วชาเลย แต่กับผู้ป่วยโรคเรื้อนการใช้เครื่องนี้ตรวจจะเหมาะมาก เพราะผู้ป่วยโรคเรื้อนจะชาแบบค่อยไปค่อยไป อาการและความชามีการเปลี่ยนแปลง”
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังรายนี้กล่าวถึงวิธีใช้เครื่องโมโนฟิลาเมนต์ต่อไปอีกว่า การใช้เครื่องนี้ไม่ยุ่งยาก นอกจากค่าอุปกรณ์แล้วก็ไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่อง วิธีใช้คือแตะปลายเส้นเอ็นขนาดต่างๆ กับบริเวณผิวหนังผู้ป่วย ในส่วนที่เราจะตรวจสอบว่าเส้นประสาทที่จุดๆ นั้นผิดปกติหรือมีการอักเสบหรือไม่ แรงกดสัมผัสของเอ็นแต่ละเส้นจะเป็นแรงกดที่แน่นอน ไม่ว่าคนใช้จะน้ำหนักมือหนักหรือเบา
“ถ้าหากคนไข้ไม่รู้สึกถึงแรงกดเพราะความชา เราก็จะทราบว่าตรงนั้นเส้นประสาทอักเสบ เชื้อโรคได้เข้ามาทำลายเส้นประสาทบริเวณนั้น ซึ่งจุดที่เชื้อโรคชอบมากที่สุด คือ มือและเท้า วิธีการเดิมของการตรวจแบบนี้เมื่อก่อนจะใช้ปลายปากกาลูกลื่น แต่ปัญหาก็คือหมอหรือบุคคลากรที่ตรวจสอบนั้น มีแรงมือกดไม่เท่ากัน แต่เส้นเอ็นเครื่องโมโนฟิลาเม้นท์นี้ได้ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานแต่ละเส้นว่าเมื่อกดแล้วจะได้น้ำหนักเท่ากันหมด ไม่ว่าคนกดจะน้ำหนักมือมากหรือน้อย”
นพ.กฤษฎา กล่าวต่ออีกว่า หากพบว่าจุดที่กดมีอาการเส้นประสาทอักเสบ คือผู้ป่วยไม่รับความความรู้สึกแตะหรือสัมผัส แพทย์ก็จะให้ยากลุ่มรักษาการอักเสบของเส้นประสาทหรือที่เรียกว่า “สเตียรอยด์” ได้ทันท่วงที
“อยากฝากถึงผู้ป่วยโรคเรื้อนทุกคนนะครับ ขอให้เข้ามารับยาและเข้ามาตรวจเส้นประสาท สำหรับผู้ป่วยโรคนี้จะไม่มีค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว ดังนั้น เพื่อป้องกันการอักเสบลุกลาม อยากให้เดินทางมาตรวจและรับยาตามกำหนดที่แพทย์แนะนำ เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเองครับ” นพ.กฤษฎาทิ้งท้าย