xs
xsm
sm
md
lg

3 เปอร์เซ็นต์ เสี่ยงในการผ่าตัดดวงตา!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"จริงๆ แล้วความเสี่ยงของโอกาสที่จะติดเชื้อในห้องผ่าตัดระหว่างการผ่าตัดดวงตานั้นมีอยู่แล้ว อยู่ที่ประมาณ 1-3% ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดจะต้องได้ข้อมูลความเสี่ยงในส่วนนี้ด้วย แพทย์จะต้องบอกอยู่แล้วว่ามันมีโอกาสการติดเชื้อได้ ทั้งในระหว่างผ่าตัดและหลังผ่าตัด แม้ว่าห้องผ่าตัดจะมีขั้นตอนการฆ่าเชื้อที่ได้ระดับมาตรฐานที่กำหนดก็ตาม จะเรียกว่าเป็นโชคร้ายไหม ผมว่ามันเป็นโอกาสที่อาจเกิดความเสี่ยงได้มากกว่า" นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์หรือที่รู้จักกันในนาม "โรงพยาบาลวัดไร่ขิง" ให้ภาพความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดดวงตา

นพ.ปานเนตรกล่าวต่อไปอีกว่า สถิติตัวเลขนี้เป็นตัวเลขสถิติที่ใช้กันในระดับสากล ในหลายๆ ประเทศก็มีการสถิติเฉพาะประเทศตัวเองด้วย คือในสหรัฐอเมริกา พบผู้ติดเชื้อจากการผ่าตัดดวงตาราวๆ 1-2% ในขณะที่ในอังกฤษอยู่ที่1-1.5% ส่วนสถิติของประเทศไทยก็อยู่ในระดับ1-3% นี้ด้วยเช่นกัน ส่วนกรณีของผู้ติดเชื้อ 11 คนที่ผ่าตัดตาต้อกระจกที่โรงพยาบาลจังหวัดขอนแก่นนั้น ห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลดังกล่าวก็ได้มาตรฐาน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแม้จะไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นและเป็นเหตุที่น่าเสียใจ ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นโอกาสของความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้
 นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์
"ตามปกติขั้นตอนการผ่าตัดทุกขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นผ่าตัดดวงตาหรือผ่าตัดอวัยวะใดก็ตาม จะต้องปลอดเชื้อ ทั้งแพทย์และบุคลากรผู้ผ่าตัดและร่วมผ่าตัด เครื่องมือทุกชิ้น รวมไปถึงระบบปรับอากาศในห้องผ่าตัดด้วยเฮป้า ฟิลเตอร์ (HEPA Filter) คือเป็นระบบกรองเชื้อโรคโดยเฉพาะ แต่เชื้อโรคต่างๆ ทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสที่อาจติดได้ระหว่างผ่าตัดนั้น มีได้จากหลายสาเหตุ คืออาจจะเป็นเชื้อที่มาจากผู้ป่วยเองที่ติดอยู่ตามผิวหนัง ดังนั้นก่อนผ่าตัดจะต้องตรวจสอบให้ละเอียดว่าบริเวณรอบๆ เปลือกตามีความผิดปกติหรือไม่ ท่อน้ำตาอักเสบหรือเปล่า เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่อย่างไรก็ตามแม้จะใช้ระบบกรองอากาศแบบพิเศษกับเครื่องปรับอากาศแล้ว เชื้อโรคก็อาจหลงเหลือเล็ดลอดเข้ามาอยู่ในอากาศภายในห้องผ่าตัดและทำให้ติดเชื้อได้เช่นกัน"

นพ.ปานเนตรกล่าวถึงกรณีการติดเชื้อจากการผ่าตัดที่โรงพยาบาลขอนแก่นว่า ก่อนหน้านี้ก็มีกรณีคล้ายๆ กันเกิดขึ้นที่ประเทศอินเดีย ก็มีผู้ติดเชื้อไปราวๆ 10 คนเช่นกัน โดยในภาพรวม การติดเชื้อในห้องผ่าตัดกรณีการผ่าตัดดวงตา ส่วนใหญ่เชื้อที่พบคือ PSUDOMONAS ACRUDINOSA และเชื้อกลุ่ม Strept ซึ่งในกรณีของโรงพยาบาลขอนแก่นก็พบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ติดเชื้อ 2 ชนิดนี้เช่นกัน โดยการตรวจสอบจากการนำน้ำในดวงตาไปตรวจก็พบว่า 7 รายที่พบเชื้อ PSUDOMONAS และอีก 1 รายพบเชื้อกลุ่ม Strept

"แม้ว่าจากการตรวจสอบห้องผ่าตัดที่โรงพยาบาลขอนแก่น โดยการเพาะเชื้อในจุดต่างๆ ของห้องผ่าตัดกว่า 10 จุด ทั้งในส่วนของเครื่องมือและอากาศในห้องผ่าตัดแล้ว จะไม่พบเชื้อ 2 ชนิดนี้เลยก็ตาม เพราะไม่ใช่ว่าทุกครั้งที่เกิดเหตุแบบนี้ในหลายๆ ประเทศ จะตรวจเจอเชื้อในห้องผ่าตัดทั้งหมด ซึ่งมันก็เป็นไปได้เหมือนกันว่า เชื้อโรคอาจจะมาจากอากาศในห้องผ่าตัด ณ ช่วงนั้น คืออยู่เพียง1-2วันก็หายไป จนมาถึงวันที่ไปตรวจและนำมาเพาะเชื้อก็ไม่พบเชื้อโรคแล้วก็เป็นได้เหมือนกันครับ"

นพ.ปานเนตรทิ้งท้ายด้วยว่า จากการเกิดเหตุการณ์อันน่าเสียใจที่โรงพยาบาลขอนแก่น จนทำให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากการผ่าตัด ที่มีทั้งหมด 11 ราย ต้องหมดโอกาสในการมองเห็นไปเลยถึง 7 ราย มองเห็นเลือนราง 3 ราย และหายเป็นปกติเพียง 1 รายนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้สังคมประหวั่นพรั่นพรึงอยู่พอสมควร แต่เชื่อว่าไม่นานก็น่าจะดีขึ้น

"คือที่โรงพยาบาลนี้ผ่าตัดช่วยเหลือผู้ป่วยที่อาจหมดโอกาสมองเห็นจากต้อกระจกปีละกว่า 2,000 ราย ก็ไม่มีปัญหาอะไร การเกิดเหตุดังกล่าวทุกฝ่ายไม่อยากให้เกิดขึ้น เชื่อว่าสังคมอาจจะตกใจและกังวลบ้าง แต่ก็อยากให้เปรียบเทียบสัดส่วนที่ผ่าตัดสำเร็จและช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย โดยหลังจากเกิดเหตุทางโรงพยาบาลก็ปิดห้องและตรวจสอบในระดับมาตรฐานและเพิ่มมาตรการการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุนี้อีก ผมก็ได้มีโอกาสคุยกับผู้ป่วยที่มีคิวจะผ่าตัดต้อกระจกหลังเปิดห้องผ่าตัด ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าไม่กังวลเพราะเชื่อว่าหลังเพิ่มมาตรการป้องกันเข้าไปอีก น่าจะไม่เกิดเหตุการณ์นี้ซ้ำสอง"
 ผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากการผ่าตัดที่รพ.ขอนแก่น
ในขณะที่พญ.สุดารัตน์ ใหญ่สว่าง หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการติดเชื้อให้ห้องผ่าตัดขณะผ่าตัดดวงตาว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และถือว่าไม่แปลกที่หลังจากการตรวจสอบห้องผ่าตัดที่โรงพยาบาลขอนแก่นแล้วไม่พบเชื้อโรค

"มันก็เปรียบเหมือนขโมยเข้าบ้านแล้วจับตัวขโมยไม่ได้ เพราะหลายๆ กรณีในหลายๆ ประเทศก็ตรวจไม่เจอแบบนี้เหมือนกัน ราชวิทยาลัยฯไม่ได้ติดใจสงสัยในประเด็นใดที่เกี่ยวกับขั้นตอนการตรวจสอบหาสาเหตุของโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น เมื่อตรวจหมดทุกปัจจัยเสี่ยงแล้ว ไม่เจอเชื้อที่ผู้ป่วยติดเชื้อก็คือไม่เจอ เพราะการติดเชื้อจากการผ่าตัดตาเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว และส่วนใหญ่ก็จะไม่สามารถบอกได้ว่าสาเหตุเกิดจากสิ่งใด ซึ่งทั่วโลกก็เป็นเช่นนี้เหมือนกันหมด เพียงแต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว โรงพยาบาลจะต้องดำเนินการปิดห้องผ่าตัด ทำความสะอาด"

พญ.สุดารัตน์กล่าวต่อไปอีกว่าสิ่งสำคัญนอกเหนือจากแพทย์และโรงพยาบาลต้องมีระบบปลอดเชื้อที่ได้มาตรฐานของห้องผ่าตัดแล้ว ก็คือต้องแจ้งให้ผู้ป่วยรับทราบความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการผ่าตัดและหลังผ่าตัดด้วย

"ตามปกติทุกโรงพยาบาลจะมีคำแนะนำการดูแลดวงตาหลังการผ่าตัดให้แก่ผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการกินยา การปฏิบัติตัว รวมไปถึงการรักษาความสะอาด ผู้ป่วยเองก็ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเอง" หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯทิ้งท้าย





ขนตาปลอม-คอนแทคเลนส์
สองอุปกรณ์พึงระวังเมื่อใช้


นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เตือนวัยรุ่นที่นิยมใช้ขนตาปลอมว่า การติดขนตาปลอมนั้น กาวที่ติดขนตาอาจจะทำให้ขนตาจริงหลุดติดมาด้วย ยิ่งทำบ่อยครั้งจะยิ่งสร้างความกระทบกระเทือนต่อขนตา ขนตาก็จะหลุดร่วง หรือเปราะบาง หักง่ายและไม่แข็งแรง ส่งผลถึงการทำลายดวงตาของตัวเองได้ ขนตาปลอมที่ดูแลไม่สะอาดและผลิตจากบริษัทที่ไม่ได้มาตรฐาน หากนำมาใช้แล้วหลุดเข้าไปทิ่มตาดำ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบ มีโอกาสเสี่ยงตาบอดได้ และหากกาวติดขนตาปลอมที่ไม่มีคุณภาพเข้าตา ก็ทำให้เกิดอาการแพ้ ระคายเคือง ตาอักเสบได้เช่นกัน

ด้านนพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ ผอ.รพ.เมตตาประชารักษ์กล่าวถึงการใช้คอนแทคเลนส์ว่า ต้องดูยี่ห้อที่ใช้ว่าได้มาตรฐานอย.หรือไม่ เพราะบางชนิดที่ใช้เสริมความงามเช่น คอนแทกเลนส์สีหรือคอนแทคเลนส์ตาโตที่ลักลอบนำเข้ามาจะไม่ค่อยได้มาตรฐาน ส่วนผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์สายตาเป็นประจำควรปล่อยให้ดวงตาได้พักบ้างในวันเสาร์-อาทิตย์ เปลี่ยนมาส่วนแว่นบ้าง และไม่ควรใส่นอน

กำลังโหลดความคิดเห็น