“มานิต” โผล่กระทรวงหมอ ปัดให้สัมภาษณ์ รอมติพรรคภูมิใจไทยพรุ่งนี้ ย่องเงียบออกจาก สธ. หนีนักข่าว ด้าน ปลัด สธ. แจงเซ็นเสนอหนังสือราชการโครงการไทยเข้มแข็ง จ.ราชบุรี เป็นไปตามระบบราชการ เสนอต่อผู้บริหารระดับสูง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยันการตัดสินใจโครงการไทยเข้มแข็งขึ้นอยู่กับมติคณะกรรมการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 มกราคม นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางเข้าทำงานที่กระทรวงสาธารณตามปกติ โดยไม่ตอบข้อซักถามใดๆ ของสื่อมวลชนเกี่ยวกับอนาคตทางการเมือง เนื่องจากต้องรอมติพรรคภูมิใจไทยจะมีการประชุมในวันที่ 5 มกราคมนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าช่วงเทศกาลปีใหม่ได้เดินทางไปเที่ยวที่ใดหรือไม่ นายมานิต ตอบด้วยหน้าตาที่แจ่มใสขึ้นว่า ได้ไปสวดมนต์ข้ามปีกับบุตรสาวที่วัดไตรมิตรวิทยารามและสักการะพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร เพื่อเป็นสิริมงคล จนกระทั่งเวลา ประมาณ 14.20 น.นายมานิต ได้เดินทางออกจากสธ. อย่างเงียบๆ โดยเลี่ยงใช้เส้นทางอื่นไม่ใช่ลิฟต์ที่ใช้เป็นปกติ ขณะที่มีสื่อมวลชนดักรอสัมภาษณ์เป็นจำนวนมาก
จากกรณีที่ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการลงนามเห็นชอบในหนังสือขอเปลี่ยนแปลงคำของบลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็ง จังหวัดราชบุรี ปี 2553 ของโรงพยาบาลราชบุรี จากอาคารอุบัติเหตุ 5 ชั้น เปลี่ยนเป็นอาคารอุบัติเหตุ 10 ชั้น และอาคารจอดรถ 7 ชั้น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2552 และหนังสือฉบับนี้ได้ส่งถึงนพ.สุชาติ เลาบริพัตร ผู้อำนวยการสำนักบริหารสาธารณสุขภูมิภาค (สบภ.) และได้มอบให้กลุ่มภาคกลางดำเนินการ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2552 นั้น
นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ตนเป็นรองปลัดที่มีหน้าที่ดูแล สบภ.ในขณะนั้น จึงเป็นการลงนามให้หนังสือผ่านไปตามระบบราชการ และเป็นขั้นตอนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงผู้บริหารที่เกี่ยวข้องตามลำดับ เพื่อผ่านเรื่องเสนอให้ผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องรับทราบ หรือส่งเรื่องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเพื่อพิจารณาตัดสินใจ ซึ่งการลงนามในครั้งนั้น ไม่ได้หมายความว่าเห็นชอบหรืออนุมัติให้ดำเนินการตามที่ระบุในหนังสือราชการนั้น การเซ็นเสนอหนังสือราชการเป็นไปตามระบบปกติซึ่งดำเนินการอยู่แล้ว
นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในการตัดสินใจการจัดสรรงบประมาณลงทุนสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ในโครงการไทยเข้มแข็ง ทั้งในส่วนเงินงบประมาณตามพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติ วงเงิน กว่า 86,000 ล้านบาทนั้น จัดทำในรูปของคณะกรรมการที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะพิจารณาตามมติของคณะกรรมการ โดยยึดหลักเกณฑ์ คือ ความเหมาะสมของการกระจายด้านพื้นที่ ความเหมาะสมทางด้านราคา และประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก