xs
xsm
sm
md
lg

น่าห่วง! เด็กไทยในชนบทจบภาคบังคับแล้วไม่เรียนต่ออื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต
เผยปี 2552 น่าห่วงพบเด็กชนบทจบการศึกษาภาคบังคับแล้วไม่ได้เรียนต่ออัตรายังสูง ภาคอีสานมากสุด คนไทยมีส่วนร่วมและเสียสละน้อยลงแนวโน้มแย่ลงเรื่อยๆ ส่วนตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตคนไทย ภูเก็ต สตูล พระนครศรีอยุธยา นครนายก และนครพนม ผ่านเกณฑ์รายได้ครัวเรือน 5 อันดับแรก  

นายวาทกานต์ ช่อแก้ว หัวหน้ากลุ่มข้อมูลพื้นฐานการพัฒนาชนบท กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า รายงานคุณภาพชีวิตของคนไทยในชนบท จากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ปี 2552 สำรวจในเขตชนบท จำนวน 8,220,609 ครัวเรือน จาก 70,823 หมู่บ้าน 6,857 ตำบล 875 อำเภอ ใน 75 จังหวัด รวมประชากร 30,949,822 คน พบว่าคนไทยในชนบทมีคุณภาพชีวิตบรรลุเป้าหมาย จปฐ. 20 ตัวชี้วัด และยังไม่บรรลุ 22 ตัวชี้วัด โดยเฉพะเรื่องการมีส่วนร่วมหรือเสียสละเพื่อส่วนรวมแย่ลงเรื่อยๆ เหลือเพียงผู้สูงอายุอยู่ ขณะที่วัยหนุ่มสาวออกไปทำงานตามเมืองใหญ่ๆ ส่วนเด็กและเยาวชนหมกมุ่นและติดไอทีน่าห่วงมาก ซึ่งเด็กที่จบการศึกษาภาคบังคับเพียงชั้น ม.ต้น ไม่ได้เรียนต่อ ม.ปลาย เป็นเด็กกลุ่มน่าห่วงที่สุดในสังคม เพราะหากไม่ได้ฝึกอาชีพหรือทำงาน จะมีปัญหาเที่ยวเตร่ เร่ร่อน จับกลุ่มเป็นเด็กแว้น

นายวาทกานต์ กล่าวว่า จังหวัดที่ครัวเรือนผ่านเกณฑ์รายได้ต้องไม่ต่ำกว่า 23,000 บาทต่อคนต่อปีมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ ภูเก็ต สตูล พระนครศรีอยุธยา นครนายก และนครพนม ส่วนจังหวัดที่ไม่ผ่านเกณฑ์รายได้น้อยที่สุด 5 อันดับแรก คือ แม่ฮ่องสอน บุรีรัมย์ อุดรธานี พิจิตร และพะเยา

สำหรับเด็กที่จบการศึกษาภาคบังคับ ม.ต้น แต่ไม่ได้เรียนต่อ ม.ปลาย หรือเทียบเท่าและยังไม่มีงานทำ หรือได้รับการฝึกอบรมทั่วประเทศมีทั้งหมด 18,283 คน คิดเป็นร้อยละ 69.6 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 80 หากแยกเป็นรายภาคจะพบว่าอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด 9,084 คน รองลงไปภาคเหนือ 4,079 คน ภาคกลาง 2,907 คน ภาคใต้ 2,213 คน

นายวาทกานต์ กล่าวต่อว่า รายงานสรุปข้อมูล จปฐ.ของทุกปี คณะกรรมการอำนวยการงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน (พชช.) ซึ่งมีปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน จะทำหนังสือกราบบังคับทูลเพื่อขอเข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อรายงานให้ทรงทราบ จากที่ตนมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ มาหลายปีทำให้ทราบว่า พระองค์ทรงสนพระทัยมากโดยเฉพาะเรื่องการสาธารณสุขและการศึกษา ทรงห่วงใยประชาชนที่อยู่ห่างไกลชนบทในพื้นที่ขาดแคลน

ทั้งนี้ จปฐ.ที่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย 5 อันดับแรก เรียงจากมากไปน้อยมีดังนี้ 1.เด็กที่จบการศึกษาภาคบังคับ แต่ไม่ได้เรียนต่อ ม.ปลาย หรือเทียบเท่า และยังไม่มีงานทำ 2.คนในครัวเรือนมีส่วนร่วมทำกิจกรรมสาธารณะของหมู่บ้าน/ชุมชน 3.ครัวเรือนไม่ถูกรบกวนจากมลพิษ 4.คนอายุ 6 ปีขึ้นไปทุกคนได้ปฎิบัติกิจกรรมทางศาสนาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง 5.คนในครัวเรือนมีความรู้ในการใช้ยาที่ถูกต้องเหมาะสม

“รายงานสรุปของปี 2552 ได้ส่งให้กับ ส.ส.ทุกคน ให้ทุกกระทรวง หากหน่วยงานเอาข้อมูลไปวางแผน จะทราบว่าพื้นที่ใดจังหวัดใดตกเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพชีวิต ปัจจัยสี่ของชีวิตในระดับครัวเรือน จะได้แก้ไขให้ตรงจุด ไม่ใช่หว่านไปทั่วดูแค่ฐานเสียงของตัวเอง” นายวาทกานต์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น