หากเลือกได้เชื่อว่าทุกคนคงเลือกใช้ห้องน้ำในบ้านหรือในที่ทำงานที่คุ้นเคย มากกว่าห้องน้ำสาธารณะที่ไม่รู้จัก เหตุผลหลักสำคัญหนีไม่พ้นเรื่องของความสะอาด แต่หากจำเป็นจริงๆ และเลี่ยงไม่ได้ ในบางครั้งเราก็จำต้องใช้บริการห้องน้ำสาธารณะ และเป็นธรรมชาติเมื่อรู้สึกว่าไม่สะอาด เราก็มักเลือกใช้สบู่ล้างมือที่ปัจจุบันส่วนใหญ่จะเปลี่ยนจากสบู่ก้อนเป็นสบู่เหลวไปแล้ว แต่ที่หลายคนยังไม่รู้ก็คือ บางครั้งการรักษาสุขอนามัยด้วยการล้างมือด้วยสบู่ภายในห้องน้ำสาธารณะกลับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการได้รับเชื้อโรคไปอย่างคาดไม่ถึง
จากการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ที่มุ่งหาเชื้อปนเปื้อนที่แฝงอยู่ในสบู่ที่ตาคนเรามองไม่เห็น โดยได้มีการเก็บตัวอย่างสบู่จำนวน 541 ตัวอย่างทั้งที่เป็นสบู่เหลวแบบเติมและแบบบรรจุภัณฑ์ปิดประเภทใช้หมดแล้วทิ้ง พบว่า สบู่แบบเติม 133 ตัวอย่าง หรือ 25% มีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน โดย 65% ของเชื้อที่พบคือเชื้อโคลิฟอร์ม ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบมากในสิ่งปฏิกูลของสัตว์เลือดอุ่น ที่มีโอกาสส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขอนามัยของผู้ใช้ ทั้งในระบบทางเดินหายใจ กระแสโลหิต ระบบปัสสาวะ และการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง ซึ่งสิ่งปนเปื้อนเหล่านี้เกิดขึ้นขณะที่มีการเปิดฝากล่องเพื่อเติมสบู่นั่นเอง ในขณะที่สบู่เหลวที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์แบบปิด กลับไม่พบเชื้อแบคทีเรียเลย
นอกจากนี้ จากการวิจัยของ American Journal of Preventive Medicine 2001 พบว่า การล้างมือและเช็ดมืออย่างถูกวิธีอย่างน้อย 5 ครั้งต่อวัน ก็สามารถลดโอกาส
ติดเชื้อหวัดได้ถึง 45% และการศึกษาของมหาวิทยาลัยเวสมินสเตอร์ยังชี้ว่า การใช้กระดาษเช็ดมือทุกครั้งหลังการล้างมือ ยังสามารถช่วยให้แบคทีเรียลดลงถึง 58% อีกด้วย