xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.เล็งมีคาบกิจกรรมสร้างจิตสำนึกพลเมือง-กระตุ้นรักชาติ ตามรอยญี่ปุ่น-เกาหลี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
“ชินภัทร” สนองนโยบาย “จุรินทร์” เล็งกำหนดคาบเรียนเน้นกิจกรรมสร้างจิตสำนึกสาธารณะ-ปลูกฝังให้รักชาติเอาอย่างเกาหลี-ญี่ปุ่น เดินหน้าจัดทดสอบ ให้คะแนนการมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อมีผลเรียนต่อ ม.1 ม.4 สร้างแรงจูงใจเด็กทำกิจกรรมมากขึ้น

วันนี้ (15 ธ.ค.) ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงผลการศึกษาการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ โดยได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และไทย เพื่อให้เห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาโดยเน้นให้ความสำคัญเกี่ยวกับการสร้างจิตสาธารณะ ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งพบว่าในหลายประเทศได้กำหนดในเรื่องของการส่งเสริมค่านิยมในการรักชาติ ไว้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และให้ความสำคัญกับการเรียนในวิชาหน้าที่พลเมือง โดยเน้นการจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เช่น ประเทศญี่ปุ่น จัดให้มีกิจกรรมเรียนรู้โดยการบริการสังคม เป็นต้น

“ในประเทศเกาหลีใต้ ได้กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมระดับประถมศึกษาจำนวน 10 ชั่วโมง/ปี ระดับ ม.ต้น-ม.ปลาย จำนวน 20 ชั่วโมง/ปี และเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของ รมว.ศธ.ที่ให้มีการทบทวนการเรียนการสอนในหลักสูตร และลดความซ้ำซ้อนในแต่ละชั้นปีลงไปกว่าร้อยละ 30 ดังนั้น สพฐ.จะใช้เวลาดังกล่าวไปจัดกิจรรมส่งเสริมในเรื่องจิตสำนึกสาธารณะให้มากขึ้น” เลขาฯ กพฐ.กล่าว

ดร.ชินภัทร กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังมีข้อคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบูรณาการกลุ่มสาระต่างๆ โดยเฉพาะช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) ที่มีการสอนทั้งหมด 8 กลุ่มสาระนั้น พบว่า ในประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน สามารถสอนวิชาสังคมศึกษาโดยบูรณาการวิชาอื่นๆ เข้าด้วยกันทั้ง วิทยาศาสตร์ และศิลปะได้อย่างกลมกลืน ซึ่งคิดว่าในส่วนนี้ สพฐ.จะนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม โดยอาจต้องเพิ่มความเข้มข้นในการเรียนการสอนวิชาสังคมศึกษาให้มากขึ้น ซึ่ง สพฐ.จะมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนต่อไป เพื่อทำให้วิชาสังคมศึกษาเป็นที่น่าสนใจ และผู้ปกครองรับรู้และส่งเสริมการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม รวมทั้งมีการเสนอว่าในอนาคตอาจมีการจัดทดสอบและให้คะแนนการมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคมมากขึ้น เพื่อให้มีผลต่อการพิจารณาศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น ทั้ง ม.1 และ ม.4 ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ทำให้นักเรียนมีแรงจูงใจอยากเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น