xs
xsm
sm
md
lg

“ขายยาขาดจริยธรรม” ต้นเหตุยาราคาแพง ชี้มีตั้งแต่ให้ปากกา ยันพาหมอเที่ยวนอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ต้านส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม ส่งผลใช้ยาไม่สมเหตุสมผล ยาราคาแพงขึ้น เผยโฆษณายาของไทยพุ่งปีละ 2,500 ล้านบาท วิทยุชุมชน-อินเทอร์เน็ตพบ โฆษณาผิดกฎหมายโอ้อวดเกินจริง เร่งเข็นมาตรฐานเกณฑ์จริยธรรมใส่เบรกส่งเสริมขายยา คุมประพฤติหมอ น่าห่วงอาจารย์แพทย์รับตั้งแต่ปากกาจนถึงประชุมแฝงเที่ยวต่างประเทศ ต้นแบบที่ดีเสีย

วันที่ 14 ธันวาคม ที่สภาการพยาบาล สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเสวนาเรื่อง การขับเคลื่อนหลักเกณฑ์จริยธรรมด้านการส่งเสริมการขายยาเพื่อลดผลกระทบต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสุขภาพของผู้ป่วย โดย ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการศึกษาปัญหาการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม ส่งผลกระทบ 1.ด้านสังคม คือเกิดการใช้ยาไม่เหมาะสม ซึ่งพบมาในกลุ่ม ยาลดไขมัน มีการใช้ยาไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรักษามากถึง 85% ยาเบาหวาน ยาปฏิชีวนะ หรือกลุ่มยาราคาแพง จึงสร้างความไม่เป็นธรรมในระบบสุขภาพ 2.ด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยมียาหลายรายการที่มีราคาสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว มีรายงานวิจัยในต่างประเทศศึกษาว่าประเทศไทย มีมูลค่าการส่งเสริมการขายยาสูงกว่าการวิจัยพัฒนายามากถึง 2 เท่า จึงทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาแพงขึ้น

ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ยามีราคาแพงส่วนหนึ่งมาจากธุรกิจยามีการส่งเสริมกลยุทธ์การส่งเสริมการขายยารูปแบบต่างๆ ทั้งกลยุทธ์ขายยาให้ประชาชนทั่วไป และขายให้บุคลากรทางการแพทย์โดยตรง โดยเฉพาะยาที่มีราคาแพงและยานำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจากการศึกษาเรื่องค่าใช้จ่ายในการโฆษณายาของไทย โดยเฉพาะการโฆษณายาสู่ผู้บริโภคในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คือ ปี 2549-2552 เป็นเงินมูลค่าสูงถึงปีละ 2,500 ล้านบาท พบว่ามีการโฆษณาผ่านวิทยุ 525 รายการในพื้นที่ 5 จังหวัด เป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย แสดงสรรพคุณเกินจริง แสดงข้อความไม่ถูกต้องทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด โดยเฉพาะการโฆษณาผ่านวิทยุชุมชนมีปัญหาการโฆษณายาไม่ได้รับอนุญาตด้วยการพูดสดในรายการ ขณะที่การโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ต พบว่ามีการโฆษณาไม่ได้รับอนุญาตสูงถึง 85% เช่น ขายยาทำแท้ง ยาบำรุงสมรรถภาพทางเพศ ยาทำให้หมดสติเพื่อข่มขื่นเหยื่อ การหลอกขายยารักษาโรคเอดส์ ซึ่งยากต่อการจับกุมดำเนินคดี

“ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมการส่งเสริมการขายโดยตรง และกฎหมายที่มีอยู่ไม่ทันสมัยไม่ทันสถานการณ์ รวมถึงการบังคับใช้ไม่มีประสิทธิภาพ และบทลงโทษไม่เข้มแข็ง ที่สำคัญกฎหมายควบคุมวิชาชีพไม่มีเกณฑ์จริยธรรมหรือจรรยาบรรณที่ชัดเจน มีกำหนดเพียง ให้แพทย์รับของขวัญจากบริษัทยาที่มีมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาทเท่านั้น แต่ไม่มีการกำหนดเกณฑ์การมีปฏิสัมพันธ์เรื่องการส่งเสริมการขายของบริษัทยาแต่อย่างใด ขณะที่ระบบการควบคุมแบบสมัครใจของภาคอุตสาหกรรมยา มีการรายงานความไม่ชอบมาพากลเพียงปีละ 1-2 กรณีเท่านั้น ซึ่งก็ยังไม่ครอบคลุมปัญหาทั้งหมด” ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว

ด้าน นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้ากลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดเกี่ยวกับการส่งเสริมการขายยาและเวชภัณฑ์กับผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ คือ การที่บุคคลระดับอาจารย์แพทย์ รับของแจกตั้งแต่ปากกายันไปถึงการเชิญไปดูงานต่างประเทศ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ เมื่อนักศึกษาแพทย์เห็นอาจารย์แพทย์ทำเป็นแบบอย่างก็จะเห็นเป็นเรื่องปกติด้วยเช่นกัน จนจะทำให้สูญเสียความเป็นต้นแบบที่ดีมีจริยธรรม ซึ่งความเสียหายในเชิงต้นแบบที่ดีนี้ประเมินความเสียหายไมได้
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ประเสริฐ กล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาที่ได้พบเห็นการสนับสนุนของบริษัทยาและเวชภัณฑ์ มี 5 รูปแบบ คือ 1.ในห้องพักของแพทย์ทุกอย่างล้วนได้รับการสนับสนุนจากบริษัทยาทั้งสิ้น ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่มูลค่าที่เคยมีการกำหนดว่าห้ามรับเกิน 3,000 บาท แต่การสนับสนุนดังกล่าวทำให้เกิดการปลูกฝังฐานความคิดเกื้อกูลกัน 2.การเชิญอาจารย์แพทย์ไปให้ความรู้ในโรงพยาบาลอื่นๆ โดยบริษัทยาได้สนับสนุนอาหารกลางวันในการถ่ายทอดความรู้ด้วย หากอาจารย์แพทย์คิดว่า บริษัทยาเลี้ยงอาหารกลางวันเป็นเรื่องปกติ แพทย์ที่รับความรู้ก็คิดว่าเป็นเรื่องปกติไปด้วย ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่อวงไม่ธรรมดา การถ่ายทอดความรู้วิชาการเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าไม่ต้องให้บริษัทยามาสนับสนุนอาหารกลางวันจะดีกว่า” นพ.ประเสริฐ กล่าว

นพ.ประเสริฐ กล่าวต่อว่า 3.การแจกยาตัวอย่าง โดยนำยาตัวอย่างไปให้กับห้องยาโดยตรง ซึ่งส่งผลเสียต่อคนไข้เพราะเมื่อยาดังกล่าวหมดก็จะไม่มียายี่ห้อเดียวกันอีก จึงควรที่จะเสนอตามหลักวิชาการเท่านั้น 4.การประชุมในประเทศ ทั้งในกทม.และเมืองท่องเที่ยว ซึ่งในส่วนของกทม.แพทย์มีกฎว่าประชุมปีละไม่เกิน 2 ครั้ง แต่หากต้องการประชุมครั้งที่ 3 ก็ไม่มีงบ จึงต้องสนับสนุนจากบริษัทยา ซึ่งการเดินทางสะดวกกว่าแบบสวรรค์กับนรก เพราะเมื่อถึงสนามบินสุวรรณภูมิถ้างบสถานพยาบาลก็หารถเอง แต่ถ้าบริษัทยามีป้ายโรงแรมมารอรับถึงที่ และ 5.ในส่วนของการสนับสนุนเดินทางไปยังต่างประเทศ ก็ที่มีบริษัทยาตามดูแลอำนวยความสะดวกให้โดยตลอด

“ผมได้รู้สึกเหมือนกับอดัมเลยว่า แอปเปิ้ลเหล่านี้ห้ามลิ้มลอง หากได้ลิ้มลองแล้วอาจจะทำให้ติด ไม่อาจถอนตัวขึ้น เพราะมันยั่วยวนจริงๆ โชคดีที่ผมไม่ลิ้มลองจึงรอดถึงทุกวันนี้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวสามารถหาทางแก้ไขเชิงระบบได้ แต่มีกรณีที่รับไม่ได้คือ 1 การให้ค่าตอบแทนเป็นเงินสด เมื่อแพทย์สั่งจ่ายยาได้ตามจำนวน 2 การให้ยาตัวอย่างกับคนไข้โดยตรงประมาณ 10-20 เม็ด โดยไม่ได้มีการนัดมาตรวจซ้ำ ซึ่งเคยพบยารักษาโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งแปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากการส่งเสริมการขาย 3 การให้วิชาชีพมาดำเนินการในสิ่งที่ไม่เหมาะสม อาทิ เซลล์ขายยาที่เป็นเภสัชกรกลับต้องมาปรนนิบัติแพทย์ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นวิชาชีพ ไม่ใช่อาชีพ และ 4 การเปลี่ยนการสั่งจ่ายยาที่มีความเข้มข้นน้อยเป็นความเข้มข้นมากกว่า เพื่อให้ได้ยอด ซึ่งส่วนนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่รับไม่ได้”นพ.ประเสริฐ กล่าว

พญ.สยมพร ศิรินาวิน อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นแพทยสภา สมาคมผู้วัจิยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีมา) ฯลฯ ได้มีการออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมเพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลแบบต่างคนต่างทำ ทำให้ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

“ที่สำคัญคือ ไม่เคยมีใครบอกว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องถูกหรือผิด ไม่มีองค์ความรู้ชัดเจน หรือการรับการสนับสนุนจากบริษัทยาในกรณีต่างๆแล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นในส่วนรวมคืออะไร ทำให้ยาแพงขึ้นด้วยหรือไม่ กระทบกับงบประมาณด้านสุขภาพโดยรวมของประเทศด้วย เพราะในหลักสูตรแพทย์ไม่ได้มีการบรรจุเรื่องดังกล่าวเชื่อมโยงให้นักศึกษาแพทย์ทราบเลย เชื่อว่าแพทย์กว่า 90% หากทราบถึงผลกระทบแล้วจะรับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม แต่อีก 10% ค่อยหามาตรการในการควบคุมต่อไป”พญ.สยมพร กล่าว

ทั้งนี้ ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคมนี้ ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ จะมีการเสนอข้อเสนอเชิงนโยบาย 11 ประเด็น ซึ่งรวมถึงข้อเสนอแก้ปัญหายุทธศาสตร์การส่งเสริมการขายที่ขาดจริยธรรมด้วย โดยให้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง จัดตั้งคณะทำงานจากทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาหลักเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาขององค์การอนามัยโลก เพื่อให้เป็นเกณฑ์กลางของประเทศทั้งในส่วนของการส่งเสริมการขาย ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมยา และธรรมาภิบาลโปร่งใส ผลประโยชน์ทับซ้อนในระบบยา เพื่อให้มีผลบังคับใช้กฎหมายได้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น