“สัมพันธ์” เผยหลายฝ่ายเห็นตรง แยกประถม-มัธยม ควรแยกเฉพาะ ม.4-ม.6 ส่วน ม.1-ม.3 อยู่กับประถมตามเดิม หวังเพิ่มเด็กในร.ร.ขนาดเล็ก จบป.6 ไม่ต้องวิ่งโร่ไปร.ร.ดัง เล็งถกอุดมศึกษาฝากเรียนวิชาสามัญในร.ร.มัธยม รอผุดเตรียมอุดมทุกจังหวัดรองรับ ขณะที่อาชีวะต้องผลิตคนจบป.ตรี ไม่ใช่แค่ ปวส.
นายสัมพันธ์ ทองสมัคร ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฏร และประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาติดตามนโยบายและแผนการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) และ อดีตรมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากข้อเสนอของครูและผู้บริหารการมัธยมศึกษาที่ให้มีการแยกการประถมศึกษาและการมัธยมศึกษาออกจากกัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น เท่าที่ได้พูดคุยกับหลายฝ่ายมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า การแยกการมัธยมศึกษาออกไปควรแยกเฉพาะชั้น ม.4 - ม.6 ส่วนชั้น ม.1 - ม.3 ควรให้การประถมศึกษาดูต่อไป เพื่อจะได้พัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และโรงเรียนขนาดเล็กจะได้มีนักเรียนเพิ่มขึ้น แทนที่จบ ป.6 แล้วต้องวิ่งไปโรงเรียนดัง ขณะเดียวกันมัธยมศึกษาจะได้พัฒนาวิชาการในระดับม.4-ม.6 ไปให้เต็มที่
“เรื่องนี้ต้องคุยกับระดับอุดมศึกษาด้วยว่า จะสามารถรับนักเรียนต่อจากมัธยมศึกษาได้เลยหรือไม่ โดยให้ฝากเรียนวิชาสามัญในโรงเรียนมัธยมศึกษาไปก่อน ขณะเดียวกันอาจารย์โรงเรียนมัธยมศึกษาที่สอนวิชาสามัญระดับอุดมศึกษาก็สามารถทำผลงานทางวิชาการ เพื่อขอเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ ได้เหมือนอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาด้วย อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ใช่ความคิดใหม่ของศธ. แต่เป็นเรื่องเก่าเพราะขณะนี้ได้มีการเตรียมจัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในทุกจังหวัดเพื่อรองรับแล้ว” นายสัมพันธ์ กล่าว
นายสัมพันธ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้สิ่งที่ ศธ.ต้องทำต่อไปคือ เรื่องการอาชีวศึกษาที่ไม่ใช่ผลิตแค่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ซึ่งต้องผลิตนักศึกษาระดับปริญาตรี ตามพ.ร.บ.การอาชีวศึกษา ด้วย ดังนั้นจึงต้องผลิตบุคลากรให้มีคุณภาพ ซึ่ง กมธ.การศึกษาจะประสานไปยังนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ ว่า กมธ.จะช่วยเหลืออะไรได้บ้างต่อไป