xs
xsm
sm
md
lg

เผยอีก 16 ปีข้างหน้าจำนวนผู้สูงอายุพุ่งสูงถึง 14.5 ล้านคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย เผยแนวโน้มผู้สูงอายุพุ่งสูงถึง 14.5 ล้านคน ในปี 2568 หรืออีก 16 ปีข้างหน้า มี 60,000-80,000 คนเจ็บป่วย ทุพลภาพ ต้องการผู้ดูแล จี้รัฐเร่งวางระบบดูแลผู้สูงอายุระยะยาว บูรณาการทั้งระบบ

พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ ผู้จัดการแผนงานวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวว่า จากรายงานของ มส.ผส.ประมาณการว่า ในปี 2568 ประชากรผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปของไทย จะเพิ่มจำนวนสูงขึ้น อยู่ที่ประมาณ 14.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ และมีแนวโน้มอายุยืนยาวขึ้น โดยพบว่าผู้สูงอายุวัยปลายหรือที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 10 ในปัจจุบันเป็นร้อยละ 12 ในปี 2573 ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องเตรียมวางระบบการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เข้าสู่ภาวะพึ่งพิง จำเป็นต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
จากการสำรวจเมื่อปี 2550 พบว่าร้อยละ 11 ของผู้สูงอายุไทยอยู่ในภาวะต้องการผู้ดูแล แต่กลับไม่มีผู้ดูแล ร้อยละ 10.9 ต้องมีผู้ดูแลในการทำกิจวัตรประจำวัน ขณะที่ร้อยละ 2.2 ของผู้ดูแลกลับเป็นผู้สูงอายุด้วยกันเองที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป และต้องทุกข์ทรมานและเจ็บป่วยตามมาจากการเป็นผู้ดูแล ส่งผลให้ผู้สูงอายุประมาณ 60,000-80,000 คน ต้องเผชิญกับปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ภาวะทุพพลภาพหรือพิการต้องพึ่งพิงผู้อื่นในการใช้ชีวิตประจำวัน ร้อยละ 4.8 มีภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังและรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์

ที่น่าห่วงคือ ปัจจุบันพบว่าเครือข่ายการดูแลผู้สูงอายุ อาทิ ลูกหลานวัยแรงงาน ที่ดูแลผู้สูงอายุ มีจำนวนลดลงจากเดิมมาก เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัว โดยการสำรวจในปีเดียวกัน พบว่ามีผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียว สูงถึงร้อยละ 7.5 อยู่ลำพังกับสามีภรรยาร้อยละ 17 และอยู่กับหลานในลักษณะครอบครัว ร้อยละ 3.1 ขณะที่อัตราส่วนวัยแรงงานที่มีศักยภาพในการเกื้อหนุนผู้สูงอายุมีแนวโน้มลดลง โดยคาดว่าประชากรวัยแรงงานที่เคยประมาณการไว้ว่า 6 คน สามารถให้การดูแลเกื้อหนุนผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 1 คน จะลดลงเหลือเพียง 2 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ในปี 2573 หรือใน อีก 20 ปีข้างหน้า” พญ.ลัดดากล่าว

พญ.ลัดดา กล่าวต่อว่า แม้ประเทศไทยจะมีสถานบริการดูแลผู้สูงของภาคเอกชนรองรับ แต่ก็ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการกำกับดูแลคุณภาพ และมีราคาค่าใช้จ่ายสูงอยู่ที่ประมาณ 15,000 - 52,500 บาทต่อคนทำให้ครอบครัวฐานะปานกลางหรือยากจนไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้ ขณะที่สถานสงเคราะห์คนชรา ที่รัฐจัดให้ก็ไม่ได้มีไว้เพื่อรองรับผู้สูงอายุที่พิการหรือดูแลตัวเองไม่ได้ เพราะยังขาดแคลนบุคลากรเฉพาะด้าน เช่น พยาบาล นักกายภาพบำบัดดูแลโดยตรง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของชุมชนท้องถิ่น ก็มีการจัดการดูแลผู้สูงอายุเช่นกัน เช่นบางแห่งมีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ มีศูนย์พักพิงดูแลสำหรับผู้สูงอายุในชุมชน มีอาสาสมัครในหมู่บ้านคอยดูแล แต่การดำเนินงานเหล่านี้ ยังมีข้อจำกัดหลายประการ จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมและพัฒนาระบบจากรัฐบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น