สบศ.หวั่นองค์ความรู้นาฏศิลป์หายไปศิลปิน ผุดศูนย์รักษ์ศิลป์ออนไลน์ให้ความรู้ด้านนาฏศิลป์-ดนตรีผ่านไซเบอร์ หวังให้นักเรียน นักศึกษาค้นคว้าได้ตลอด 24 ชม.ระบุใช้เวลา 3 ปีรวบรวมข้อมูล
นายกมล สุวุฒโฑ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า สบศ.ได้ร่วมกับ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง ได้เตรียมจัดตั้งศูนย์รักษ์ศิลป์ สนองพระดำริพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัตดามาตุ เนื่องจากเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จพระดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีครอบครูของ สบศ. ทรงมีพระดำริว่า อยากให้ สบศ.รวบรวมองค์ความรู้ด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน เพราะเกรงว่า องค์ความรู้เหล่านี้อาจจะสูญหายไปกับตัวครูผู้สอน
นายกมลกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับศูนย์รักษ์ศิลป์ จะรวบรวมความรู้ด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ ในรูปแบบดิจิตอล เชื่อมโยงกับระบบอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น ท่าร่ายรำนาฏศิลป์ทั้งภาพเคลื่อนไหว ภาพนิ่ง ทฤษฎีด้านวิชาการ ซึ่งนักเรียน นักศึกษา และประชาชน สามารถศึกษาท่ารำ และข้อมูลวิชาการได้จากศูนย์ข้อมูลดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนพื้นที่จัดตั้งศูนย์รักษ์ศิลป์ จะอยู่ที่บริเวณวังหน้า ที่ตั้ง สบศ. โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการจัดตั้งศูนย์ 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2553-2555 แต่ถ้าข้อมูลส่วนใดจัดทำเสร็จแล้วก็จะให้ประชาชนเข้ามาสืบค้นได้ที่ศูนย์หรือผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ทันที
“ตอนนี้รูปแบบของศูนย์และอาคารทำการจัดทำเสร็จแล้ว คาดว่าจะใช้งบฯดำเนินการจัดสร้างและจัดทำข้อมูลดิจิตอลตลอด 3 ปี จำนวน 50 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การจัดสร้างศูนย์รักษ์ศิลป์จะทำให้องค์ความรู้ศิลปวัฒนธรรมของชาติคงอยู่และเป็นระบบมากขึ้น รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ในด้านการศึกษาหาความรู้ของประชาชน แต่ผมรู้สึกเสียดายที่บรมครูด้านศิลปะได้จากโลกนี้ไปหลายท่านแล้ว เช่น ครูเสรี หวังในธรรม เป็นต้น ทางเราก็จะพยายามรวบรวมองค์ความรู้ของท่านเหล่านี้มาไว้ในศูนย์ดังกล่าวด้วย” อธิการบดี สบศ.กล่าว