“หมอบรรลุ-ประทิน” ลงพื้นที่สาวโกงไทยเข้มแข็ง ประเดิม รพ.ราชบุรี แห่งแรก ชี้ ได้งบมากสุดแบบผิดปกติ ตั้งข้อสงสัยของบก่อสร้าง 2 ครั้ง เปลี่ยนจากตึก 5 ชั้น เป็นตึก 10 ชั้น แถมไม่มีลายเซ็นผู้ว่าฯ จ.ราชบุรี กำกับ เกรงเป็นหนังสือปลอม ส่วนตึกสงฆ์อาพาต ขอขยายเตียงเพิ่มทั้งที่ไม่จำเป็น ขณะที่ “มานิต” ร้อนตัวแจงอธิบายได้ นักการเมืองไม่มีเอี่ยว ไม่ได้สั่ง ยันไม่ได้มากดดัน
หมอบรรลุ ลงพื้นที่ราชบุรี ปิดห้องสอบเข้ม
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 17 พฤศจิกายน นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ รองประธานคณะกรรมการ นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง นพ.นิวัตชัย สุจริตจันทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน กรรมการตรวจสอบฯ ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.ราชบุรี เพื่อตรวจสอบการเสนอของบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็งของโรงพยาบาลราชบุรี โดยมี นพ.บุญเรียง ชูชัยแสงรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี และ นพ.จินดา แอกทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี เข้าให้ข้อมูลที่ห้องประชุมชั้น 2 ของอาคารอำนวยการ โดยให้ชี้แจงข้อมูลรายบุคคล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่คณะกรรมการเดินทางถึงห้องประชุม มีชาวบ้านจำนวนกว่า 20 คนมารวมตัวกันและกรูเข้าไปยังห้องประชุม เนื่องจากต้องการให้คณะกรรมการฯ ทราบว่าต้องการอาคาร 10 ชั้น จากนั้น นพ.บรรลุ จึงได้กดไมโครโฟน และแจ้งว่า ผู้ใดที่ไม่เกี่ยวข้องขอเชิญออกจากนอกห้องประชุม เพราะหากใครที่ไม่ใช่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ขอเชิญออก
มานิต ตามเงียบ ยันไม่ได้มากดดัน
ต่อมาเวลา 10.45 น.นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางมายังโรงพยาบาลราชบุรี และเตรียมที่จะเดินทางเข้าไปยังห้องที่คณะกรรมการตรวจสอบฯ เข้าประชุม แต่ทราบจากสื่อมวลชนว่า นพ.บรรลุ ให้เฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่เป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ต้องการให้ข้อมูลเข้าในห้องประชุมเท่านั้น นายมานิต จึงตัดสินใจไม่เข้าไปยังห้องประชุมและเดินทางกลับทันที หลังจากให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเสร็จเรียบร้อย
โดย นายมานิต กล่าวว่า การเดินทางมาในครั้งนี้ ไม่ต้องการที่จะกดดันการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบฯ และไม่ได้ถูกเชิญมาให้ปากคำ แต่มาดูแลความเรียบร้อยในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่เท่านั้น และอยากอธิบายว่า งบประมาณที่ทางโรงพยาบาลขอนั้น มีที่มามีเหตุผลที่สามารถอธิบายได้ ว่าเป็นการเสนออย่างสมเหตุสมผล เช่น ตัวอาคารที่มีการสร้างมากว่า 20 ปี หรือสถานที่ที่ไม่เพียงพอต่อผู้ป่วย ทำให้ สสจ.และทางโรงพยาบาล อยากปรับปรุงและเพิ่มเติมเพื่อรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น ทำให้มีการของบประมาณเพิ่มเติมจากตึก 5 ชั้นเป็น 10 ชั้น เพื่อสร้างเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ เพื่อดูแลโรคเฉพาะทาง และการขอสร้างหอพักเจ้าหน้าที่พยาบาลนั้น เพื่อสร้างความปลอดภัยกับบุคลากร เพราะปัจจุบันอาคารไม่เพียงพอทำให้ต้องเช่าหอพักภายนอกโรงพยาบาลแทน ซึ่งส่วนนี้ต้องดูแล
“หากคิดว่าผมจะมากดดันคณะกรรมการตรวจสอบฯ ในวันนี้ก็คงจะไม่เข้าไปชี้แจงอะไร เพราะไม่อยากให้คิดเช่นนั้น แต่ยืนยันว่า ฝ่ายการเมืองไม่ได้เข้าไปยุ่งหรือจัดการอะไร เป็นเรื่องของพื้นที่ และโรงพยาบาลที่มีความต้องการ เพราะผมไม่ได้มีความรู้อะไรในเรื่องการสร้างโรงพยาบาลเพียงแต่เมื่อเห็นว่ามีการของบประมาณเพื่อสร้างศูนย์การแพทย์ ก็ได้กำชับว่าให้ดูแลให้มีเครื่องมือทางการแพทย์ให้พอเพียง ซึ่งก็ได้รับงบประมาณจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาส่วนหนึ่งในการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ด้วย”นายมานิต กล่าว
นายมานิต กล่าวต่อว่า สำหรับงบประมาณที่จังหวัดราชบุรี ได้รับในช่วงเวลาที่มีตนดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเรื่องปกติที่จะมีการจับตามองว่าได้รับงบประมาณมากกว่าพื้นที่อื่น แต่ต้องนำจำนวนประชากรมาเปรียบเทียบด้วย ซึ่งนอกจากผู้ป่วยในจังหวัดราชบุรี ยังมีผู้ป่วยจากพื้นที่ใกล้เคียงในภาคตะวันตกเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งงบประมาณได้กระจายไปในโรงพยาบาลทั้ง 4 แห่งในจังหวัดไม่ได้อยู่ที่เดียว โดยราคาก่อสร้างอาคารก็เท่ากับพื้นที่อื่นเพราะนำแบบการสร้างอาคารมาจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เหมือนกัน และยังไม่ได้มีการทุจริตเกิดขึ้นแต่อย่างใด
แถลงผลชี้ ปัญหาเพียบ
ต่อมานพ.บรรลุ ได้แถลงข่าวผลการประชุมว่า เหตุที่มาตรวจสอบที่ จ.ราชบุรี เนื่องจากมีปัญหาหลายประการ แต่ไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้ทุกเรื่อง ในพื้นที่ จ.ราชบุรี มีโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปมากถึง 4 แห่ง คือ โรงพยาบาลราชบุรี โรงพยาบาลโพธาราม โรงพยาบาลบ้านโป่ง และโรงพยาบาลดำเนินสะดวก และยังมีโรงพยาบาลชุมชนอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลราชบุรี มีความผิดปกติเรื่องการเสนอของบประมาณในส่วนของสิ่งก่อสร้าง โดยมีการเสนอเรื่องมา 2 ครั้งและมีการเปลี่ยนแปลงลำดับความสำคัญของสิ่งก่อสร้าง
นพ.บรรลุ กล่าวด้วยว่า จากเดิมมีการเสนอของบก่อสร้าง 4 รายการ เรียกลำดับตามความสำคัญ คือ 1.อาคารอุบัติเหตุและผู้ป่วยนอก 5 ชั้น 2.อาคารจอดรถ 7 ชั้น 3.อาคารโรคเฉพาะทาง ด้านหัวใจ มะเร็ง 10 ชั้น 4.อาคารสงฆ์อาพาธ รวมทั้งสิ้น 800 กว่าล้านบาท แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงลำดับความสำคัญใหม่ โดยสลับเอาอาคารโรคเฉพาะทาง 10 ชั้น เป็นลำดับแรก ส่วนอาคารอุบัติเหตุและผู้ป่วยนอก 5 ชั้น ไปอยู่ลำดับที่ 3 แทน
“คณะกรรมการตรวจสอบฯ เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีความไม่ชัดเจนหลายประการ เช่น ผู้ว่าฯ ราชการจังหวัดราชบุรี ไม่ได้เซ็นลงนามในหนังสือเสนอของบประมาณครั้งที่ 2 ทำให้ไม่ทราบว่าเป็นเอกสารจริงหรือไม่ ประกอบกับการเสนอของบครั้งแรก มีเหตุผลสมควร เพราะตึกอุบัติเหตุและผู้ป่วยนอก มีความสำคัญมีผู้ป่วยมาใช้จำนวนมาก แต่พอของบประมาณครั้งที่ 2 กลับเปลี่ยนขออาคารโรคเฉพาะทางแทน ซึ่งหากมีการก่อสร้างจริงจะต้องทุบตึกเอกซเรย์ ตึกสงฆ์อาพาธเดิม และตึกผู้ป่วยจิตเวชทิ้งไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะกรรมการตรวจสอบฯ ต้องนำไปพิจารณาประกอบด้วย” นพ.บรรลุ กล่าว
นพ.บรรลุ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การเสนอขอสร้างตึกสงฆ์อาพาธ ขนาด 114 เตียง ก็มีความผิดปกติ เพราะจากการตรวจสอบอาคารสงฆ์อาพาธเดิมที่มีอยู่แล้ว เป็นอาคารขนาด 24 เตียง แต่มีพระสงฆ์อาพาธนอนอยู่เพียง 16 เตียง จึงถือว่าเพียงพอแล้วเพราะเตียงไม่เต็ม ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เหตุใดต้องของบประมาณการก่อสร้างมากขนาดนี้ จึงต้องมาหาคำตอบและก็ได้ข้อมูลส่วนหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ต้องให้คณะกรรมการตรวจสอบฯ กลับไปทบทวนข้อมูลโดยละเอียดอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้การตรวจสอบมีความคืบหน้ากว่า 80% แล้ว โดยจะทำการตรวจสอบให้เร็วที่สุด คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน
เมื่อถามว่า ปกติการก่อสร้างอาคารใหม่จะต้องทุบอาคารเก่าหรือไม่ นพ.บรรลุ กล่าวว่า ปกติการก่อสร้างอาคารใหม่ จะต้องเก็บอาคารเก่าไว้ บ้านเมืองไม่ได้ร่ำรวยงบประมาณที่ได้มาก็ต้องกู้เงินมาก ประชาชนจะต้องใช้หนี้ต่อไป จึงจำเป็นต้องประหยัด ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ไม่ใช่มือใครยาวสาวได้สาวเอา
เมื่อถามว่า จะมีการลงพื้นที่ตรวจสอบในจังหวัดอื่นๆ อีกหรือไม่ นพ.บรรลุ กล่าวว่า คงไม่สามารถเดินทางไปตรวจสอบในอีก 75 จังหวัด ซึ่งการตรวจสอบ จ.ราชบุรี เพราะเมื่อพิจารณางบประมาณเป็นรายจังหวัดแล้ว และคำนวณจากงบประมาณที่ได้เปรียบเทียบกับอัตราประชากร พบว่า จ.ราชบุรี ได้งบประมาณสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ
ต่อข้อถามว่า มีจังหวัดอื่นได้งบประมาณสูงผิดสังเกตอีกหรือไม่ นพ.บรรลุ กล่าวว่า มีเหมือนกันแต่ไม่มาก ไม่ถึง 10 จังหวัด ซึ่งการได้งบมากผิดสังเกต อาจจะเป็น 1,000 ล้านบาท หรือ 100 ล้านบาทก็ได้ ซึ่งในจังหวัดอื่นที่มีปัญหาก็จะไปตรวจสอบอีก
ต่อข้อถามว่า จะเชิญรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มาให้ข้อมูลหรือไม่ นพ.บรรลุ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับประเด็นที่ต้องการจะทราบว่าเกี่ยวข้องกับใคร ก็จะเชิญมา แต่ถ้าไม่เกี่ยวข้องก็ไม่รู้จะเชิญมาทำไม
เมื่อถามต่อว่า ทราบหรือไม่ว่ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาที่โรงพยาบาลราชบุรีด้วย ถือเป็นการกดดันคณะกรรมการตรวจสอบหรือไม่ นพ.บรรลุ กล่าวว่า ไม่ทราบท่านจะมาชี้แจงผมทำไม ผมยังไมได้เชิญท่าน แต่ก็ไม่รู้สึกกดดัน ผมมาหาข้อเท็จจริงว่าอะไรควรไม่ควร ผมไม่ใช่ผู้มีวาสนาจะให้หรือไม่ให้อะไรก็ได้ ผมก็อายุเท่านี้แล้ว จะมากดดันอะไรผม ผมเป็นแค่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
ประทิน ตั้งข้อสังเกต ไม่เห็นเอกสารสำคัญ
ขณะที่ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ รองประธานคณะกรรมการตรวจสอบฯ กล่าวว่า ตามคำขอของทางจังหวัดได้มีคำขอในช่วง ม.ค.โดยของบประมาณในการสร้างตึก 5 ชั้น ราคา 187 ล้านบาทและอาคารที่จอดรถ 7 ชั้นราคา 63 ล้านบาท รวม 250 ล้านบาท แต่ในวันที่ 13 พ.ค.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี ทำหนังสือถึง ปลัด สธ.ของบในการสร้างอาคาร 5 ชั้น และอาคาร 10 ชั้นเพื่อเป็นศูนย์รักษาโรคเฉพาะทางพร้อมกับอาคารที่จอดรถรวม 400 กว่าล้านบาท หลังจากมาตรวจสอบโดยได้รับคำยืนยันจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรีว่าไม่เคยเห็นเอกสารที่เสนอของบประมาณกว่า 400 ล้านบาท
“เอกสารการเสนอขอมีการลงนามในชื่อของ นายปราโมทย์ เข้มทวี เจ้าพนักงานรักษาราชการนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี ก็ได้เชิญนายปราโมทย์มาให้ข้อมูลได้ชี้แจงว่า ที่ลงนามในหนังสือของบประมาณดังกล่าว เนื่องจากรอง นพ.สสจ.ราชบุรีที่เป็นผู้ดูแลโครงการไทยเข้มแข็งไม่อยู่ ไปทำงานต่างจังหวัด จึงได้ลงนามแทน”พล.ต.อ.ประทิน กล่าว
พล.ต.อ.ประทิน กล่าวว่า ขณะที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรีให้ข้อมูลว่า ไม่เห็นเอกสารในการของบประมาณสร้างตึก 10 ชั้นที่ขอภายหลัง เห็นแต่เอกสารขอสร้างตึก 5 ชั้นที่ขอตั้งแต่ปี 2547 เท่านั้น เพราะแผนกผู้ป่วยนอกมีความจำเป็นกว่า แต่ สสจ.ราชบุรี กลับอนุมัติในการสร้างตึก 10 ชั้น ดังนั้น จึงต้องไปพิจารณาว่า สสจ.ราชบุรี ได้พิจารณาในการของบประมาณสร้างตึก 10 ชั้นได้อย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลรับปากว่าจะไปหาข้อมูลในส่วนนี้เพิ่มเติม