สธ.กระตุ้นผู้ประกอบการสปาเพื่อสุขภาพทั่วประเทศ เร่งพัฒนาคุณภาพให้เกณฑ์มาตรฐาน 5 ด้านตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2551 รับสิทธิยกเว้นภาษีสรรพสามิต มีผลบังคับใช้แล้ว เชื่อมั่นกระตุ้นเข้าสู่ระบบการแข่งขันกับสากล พร้อมดันไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ และเป็นเมืองสุขภาพดีของโลก สปาใดที่ไม่ผ่านเกณฑ์ จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 ล่าสุดมีสปาทั่วประเทศผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ สธ.แล้ว 361 แห่ง
วานนี้ (6 พ.ย.) ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายเอกศักดิ์ โอเจริญ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กระทรวงการคลัง นพ.นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และนางวัลวลี ตันติกาญจน์ รองประธานสมาพันธ์สปาไทย/ นายกสมาคมสปาสมุย ร่วมแถลงข่าว การประกาศการยกเว้นภาษีสรรพสามิตให้สถานประกอบการสปาเพื่อสุขภาพ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
โดย นายวิทยากล่าวว่า สปาเพื่อสุขภาพที่จะได้รับสิทธิการยกเว้นภาษีสรรพสามิต จะต้องได้รับใบรับรองมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2551 เรื่อง กำหนดสถานที่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมสวย มาตรฐานของสถานที่ การบริการ ผู้ให้บริการ หลักเกณฑ์ และวิธีการตรวจสอบเพื่อการรับรองให้เป็นไปตามมาตรฐานสำหรับสถานที่เพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมสวย ตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 ซึ่งกำหนดมาตรฐานไว้ 5 ด้าน ได้แก่ สถานที่ ผู้ดำเนินการสปาเพื่อสุขภาพผู้ให้บริการ การบริการและความปลอดภัย เพื่อให้บริการอย่างมีคุณภาพ ผู้รับบริการมีความปลอดภัย สถานประกอบการฯที่ผ่านการรับรองจะได้รับตราสัญญลักษณ์ “มาตรฐาน สบส.” เป็นรูปมือและดอกกล้วยไม้แสดงไว้ที่สถานประกอบการฯเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้รับบริการ
“ที่ผ่านมาสปาไทยได้รับความนิยมติดอันดับต้นของโลก สร้างรายได้ประเทศมากกว่าปีละหมื่นล้านบาท จากการสำรวจครั้งล่าสุดมีสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทั่วประเทศประมาณ 4,600 แห่ง แต่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข 1,272 แห่ง แบ่งเป็นสปาเพื่อสุขภาพ 361 แห่ง นวดเพื่อสุขภาพ 860 แห่ง และนวดเพื่อเสริมสวย 51 แห่ง ดังนั้นจึงขอให้ผู้ประกอบการสปา เร่งดำเนินการขอใบรับรองมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุขโดยด่วน” นายวิทยากล่าว
นายวิทยากล่าวต่อว่า การออกประกาศยกเว้นภาษีสรรพสามิตครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่สถานประกอบการด้านสปาเพื่อสุขภาพของไทยจะได้รับการพัฒนามาตรฐานทุกด้าน ให้สามารถแข่งขันในระดับสากลตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขและนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยขยับชั้นจากการเป็นศูนย์กลางสุขภาพเอเชีย (Medical Hub of Asia) เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Global Medical Hub) และสามารถสร้างให้ไทยเป็นเมืองสุขภาพดีของโลก (Wellness Capital of the World)
ด้าน นายเอกศักดิ์กล่าวว่า ตามเจตนารมณ์ของประกาศยกเว้นภาษีสรรพสามิตฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และกระตุ้นให้สปาเพื่อสุขภาพไทยสามารถแข่งขันในระดับสากลได้ โดยมีข้อแม้ว่าสถานประกอบการสปาที่จะได้รับการยกเว้นภาษี จะต้องผ่านการตรวจประเมินและได้รับใบรับรองมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เท่านั้น ตามประกาศนี้ ผู้ประกอบการสถานบริการประเภทอาบน้ำ หรืออบตัวและนวด ในสถานบริการเสริมความงาม หรือเพื่อสุขภาพทุกรายต้องชำระภาษีที่มีรายได้ก่อนวันที่ 20 ตุลาคม 2552 ในอัตราร้อยละ 10 ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับหนังสือรับรองมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุขจะได้รับการยกเว้นภาษีตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไป
“ในปีงบประมาณ 2552 มีธุรกิจสปาจดทะเบียนเป็นสถานบริการประเภทอาบน้ำหรืออบตัวและนวดในสถานบริการเสริมความงามหรือเพื่อสุขภาพกับกรมสรรพสามิตจำนวน 420 ราย โดยเป็นธุรกิจสปาที่ได้รับใบรับรองมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 150 ราย มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีสปาจำนวน 41.45 ล้านบาท ผู้ที่ยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุขจะต้องเสียภาษีอัตราร้อยละ 10 ของรายได้ไปจนกว่าจะผ่านการรับรอง” นายเอกศักดิ์กล่าว
ด้าน นพ.นรา กล่าวว่า ผู้ประกอบการสปาเพื่อสุขภาพ ที่ต้องการให้กระทรวงสาธารณสุขตรวจรับรองมาตรฐาน สามารถยื่นคำร้องดังนี้ สถานประกอบการที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ยื่นที่สำนักงานส่งเสริมธุรกิจบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี ในต่างจังหวัดยื่นคำร้องได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เมื่อผู้ประกอบการได้หนังสือรับรองมาตรฐานแล้ว ให้แจ้งสำนักงานสรรพสามิตในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ เพื่อดำเนินการตามสิทธิได้รับการยกเว้นภาษีตามประกาศกรมสรรพสามิตฉบับดังกล่าว โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เวปไซด์ของกระทรวงสาธารณสุข www.thaispa.go.th, www.hss.moph.go.th หรือโทรศัพท์ 0-2951-0792-4 หรือ 0-2590-1633
นางวัลวลี ตันติกาญจน์ รองประธานสมาพันธ์สปาไทย นายกสมาคมสปาสมุย กล่าวถึงการยกเว้นภาษีสรรพสามิตของธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพว่า เป็นเรื่องสำคัญของภาครัฐต้องสนับสนุนผู้ประกอบการที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งทางสมาพันธ์เร่งลงพื้นที่เอกซเรย์ผู้ประกอบการรายใหม่ ที่ยังไม่ได้รับใบรับรองมาตรฐานของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ให้ปฏิบัติให้ถูกต้องโดยเร็วที่สุด เน้นรักษาชื่อเสียงสปาไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและทั่วโลก เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวสำหรับผู้รักสุขภาพที่ชื่นชมเอกลักษณ์ในความเป็นไทย อ่อนช้อยงดงามและภูมิปัญญาไทยที่มีชื่อเสียงรู้จักเลื่องลือไปทั่วโลก หวังโกยรายได้เข้าประเทศให้เป็นอันดับต้น ของภูมิภาคเอเชีย