สธ.ได้รับอนุมัติงบจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ใหญ่ –เด็ก-ติดรถฉุกเฉิน ชนิดพิเศษ กว่า 200 เครื่อง มูลค่า 148 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ป่วยหวัดใหญ่ 2009 อาการรุนแรง โยนงบให้พื้นที่จัดซื้อเอง แค่ช่วยร่างแนวทางเครื่องช่วยหายใจติดรถฉุกเฉิน โดยเร่งจัดซื้อจัดจ้างให้เสร็จภายใน 30 ก.ย.นี้
วันที่ 9 กันยายน นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สธ.ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณจำนวน148 ล้านบาท ตามที่รัฐบาลอนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจชนิดพิเศษ จำนวน 206 เครื่อง เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง โดยสามารถนำมาใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงได้อีก ทั้งนี้จะโอนงบประมาณให้กับพื้นที่เป็นผู้จัดซื้อจัดจ้างเอง
นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า การจัดซื้อจัดจ้างเครื่องช่วยหายใจชนิดพิเศษครั้งนี้แบ่งเป็น4 ลักษณะ คือ 1.เครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ใหญ่ให้โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป จำนวน 95 เครื่อง 2.เครื่องช่วยหายใจพิเศษชนิดสำหรับเด็กเขตละ 18 เครื่อง ซึ่งทั้ง 2 ลักษณะนี้ทางสถานพยาบาลต่างๆในพื้นที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดซื้อจัดจ้างอยู่แล้ว แต่อีกลักษณะ 3.เครื่องช่วยหายใจชนิดที่ติดกับรถพยาบาลฉุกเฉินจำนวน 75 เครื่อง 4. เครื่องช่วยหายใจสำหรับโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ 18 เครื่อง
“สธ.ได้เตรียมกระจายงบประมาณไปยังพื้นที่เพื่อให้จัดซื้อจัดจ้างด้วยตนเองเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างในส่วนกลางจึงไม่มีการกำหนดทีโออาร์ แต่ได้จัดทำแนวทางในการเลือกซื้อเครื่องหายใจชนิดพิเศษสำหรับรถฉุกเฉินซึ่งเป็นองค์ความรู้ใหม่นำไปใช้เป็นแนวทางให้ทางสถานพยาบาลใช้เป็นคุณสมบัติในการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งแนวทางปฏิบัติดังกล่าว จะแล้วเสร็จในเร็วๆนี้ เนื่องจากต้องจัดซื้อจัดจ้างให้เสร็จสิ้นภายใน 30 ก.ย.นี้”นพ.ไพจิตร์ กล่าว
ด้านพญ.สยมพร ศิรินาวิน หัวหน้าหน่วยติดเชื้อ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะกรรมการในคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการและยุทธศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข กล่าวว่า แนวทางในการเลือกซื้อเครื่องช่วยหายใจชนิดพิเศษสำหรับรถฉุกเฉิน มีศ.พญ.สุมาลี เกียรติบุญศรี หัวหน้าหน่วยระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤติ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคทางเดินหายใจเป็นผู้เขียนร่างแนวทางดังกล่าวให้ด้วยตัวเอง เพราะเป็นชนิดพิเศษยังไม่การใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งในผู้ป่วยอาการหนักที่มีเชื้อไวรัสลงปอดระดับลึก ก็ต้องจำเป็นใช้เครื่องช่วยหายใจอีกแบบในการช่วยเหลือชีวิต