สพฐ.ออกเกณฑ์ ม.3 ขึ้น ม.4 ระบุโรงเรียนแห่งไหน เด็ก ม.ต้น น้อยกว่า ม.ปลาย ให้รับทุกคน ส่วนโรงเรียน ม.ต้นมากกว่า ม.ปลาย ให้กำหนดเกรดเฉลี่ยไม่เกิน 2.5 หากเกินต้องขออนุญาต สพท. พร้อมให้ สพท.เกลี่ยให้เด็กมีเก้าอี้นั่งทุกคน ไม่ว่าเด็กจะเลือกเรียน ม.ปลาย หรือสายอาชีพ
นางอ่องจิต เมธยะประภาส ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคระกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานว่า ที่ประชุมเสนอเกณฑ์ ม.3 ขึ้น ม.4 โดยแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ โรงเรียนที่มีนักเรียน ม.ต้น มากกว่า ม.ปลาย กับ ม.ต้น น้อยกว่า ม.ปลาย ซึ่งที่ประชุมสรุปว่า โรงเรียนที่มีนักเรียน ม.ต้น น้อยกว่า ม.ปลาย ต้องรับนักเรียนที่ประสงค์จะศึกษาต่อทุกคน ส่วนโรงเรียนที่มีนักเรียน ม.ต้น มากกว่า ม.ปลาย ทางโรงเรียนสามารถกำหนดเกณฑ์การคัดเลือก เกรดเฉลี่ย 2.0-2.5 หากกำหนดเกรดเฉลี่ยสูงกว่านี้โรงเรียนจะต้องขออนุญาตจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) พร้อมกันนี้ สพท.จะต้องมีบทบาทวางแผนแนวปฏิบัติการรับนักเรียน และแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยโดยประสานงานกับศูนย์ประสานงานการมัธยมศึกษา อีกทั้งต้องวางแผนนักเรียน ม.3 ที่ไม่ต้องการศึกษาต่อ ม.ปลาย จะต้องประสานกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) หรือกลุ่มอาชีพให้แก่นักเรียน
ทั้งนี้ โรงเรียนจะต้องรู้ศักยภาพของนักเรียนแต่ละคนตั้งแต่เนิ่นๆ พร้อมกับประสานงานกับผู้ปกครอง เพื่อเป็นข้อมูลว่าเด็กควรศึกษาต่อระดับสูง หรือควรเลือกเรียนด้านอาชีพ อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองไม่ต้อวิตกกังวล นักเรียนทุกคนต้องมีที่เรียน
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า เกณฑ์ดังกล่าวยังไม่ถือว่าได้ข้อยุติ เพราะต้องนำเสนอ กพฐ.อีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ามีโรงเรียนบางแห่งไม่สามารถรับนักเรียนได้ครบทุกคน เพราะจำนวนนักเรียน ม.3 มากกว่า ม. 4 แล้วผลการเรียนของนักเรียนบางแห่งมีเกรดเฉลี่ย 4 เกือบหมด ต้องยอมรับว่าโรงเรียนอาจจะต้องเหนื่อย ส่วนโรงเรียนแห่งไหนจะกำหนดเกรดเฉลี่ยเกิน 2.5 จะต้องขออนุญาต สพท.พร้อมกันนี้จะต้องเปิดโอกาสให้เด็กที่เกรดไม่ถึง 2.5 แต่มีความสามารถทางด้านอื่น เช่น มีจิตอาสา ควรได้รับการพิจารณาด้วย
“การรับเด็กนั้นเดิมจะเป็นความรับผิชอบของแต่ละโรง โรงเรียนต้องรับผิดชอบเด็กของตนเองและรับเด็กจากโรงเรียนอื่นเข้ามา พูดไปก็ทำไม่ได้จริง เพราะห้องเรียนไม่พอ จึงถือเป็นนโยบายให้ สพท.ต้องเข้ามาวางแผนรองรับเด็กที่ประสงค์จะเรียน ม.4 มาช่วยดูว่ามีเพียงพอหรือยัง และต้องส่งเสริมให้โรงเรียนแต่ละแห่งมีจุดเด่น จุดขาย เช่น เก่งวิชา เก่งดนตรี และด้านอื่นๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้นักเรียน อย่างเช่นโรงเรียนจิตลดาวิชาชีพ ซึ่งปีแรกไม่ค่อยมีนักเรียนพอระยะหลังมีคนแย่งกันเข้า”
คุณหญิงกษมาแสดงความเห็นว่า ตนไม่อยากให้มีการสอบคัดเลือกเพียงอย่างเดียว ต้องการให้ดูพอตฟลอลิโอของนักเรียนด้วย เช่น เด็กที่มีจิตอาสา ซึ่งควรเปิดโอกาสให้คณะกรรมการสถานศึกษา ช่วยกันคิด อาจจะมีหลายช่องทางการรับ ม.4 เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น