xs
xsm
sm
md
lg

สทศ.เผยสอบ GAT/PAT นร.คะแนนสูงมีเพียง ร้อยละ 10-เด็ก ม.6 ไม่เคยติวได้เต็มคิดวิเคราะห์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สทศ.เผยค่าเฉลี่ยคะแนนสอบ GAT/PAT รอบ 2/2552 สูงขึ้นในวิชา GAT, PAT 5, PAT6, PAT 7 ส่วน PAT 1-PAT 4 คะแนนลดลง พบเด็กม.5 ทำคะแนนได้ต่ำกว่าเด็ก ม.6 เกือบทุกวิชา และเด็กที่สอบครั้งแรกทำคะแนนได้ต่ำกว่า การสอบ 2 ครั้งทุกวิชา ระบุเด็กเพียง 10% เท่านั้นสอบ PAT ได้คะแนนอยู่ในช่วง 200 คะแนนจนถึงเต็ม ขณะที่เด็ก ม.6 ร.ร.สตรีวัดมหาพฤฒาราม สอบ GAT การคิดวิเคราะห์ได้เต็มทั้ง 2 ครั้ง เผยไม่เคยติว อาศัยอ่านทบทวนด้วยตัวเอง

วันนี้ (19 ส.ค.) ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผอ.สทศ.เปิดเผยถึงผลการเปรียบเทียบคะแนนแบบทดสอบความถนัดทั่วไปหรือ GAT และ แบบทดสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการหรือ PAT ในการสอบครั้งที่ 1/2552 และ ครั้งที่ 2/2552 ว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลในรายละเอียดพบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนสอบครั้งที่ 2/2552 สูงขึ้นในวิชา GAT, PAT 5 ความถนัดทางวิชาชีพครู, PAT6 ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์ และ PAT 7 ภาษาต่างประเทศ ส่วน PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์, PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์, PAT 3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ และ PAT 4 ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ คะแนนเฉลี่ยลดลง โดยการสอบครั้งที่ 2/2552 นักเรียน ม.5 ที่เข้าสอบทำคะแนนได้ต่ำกว่านักเรียน ม.6 เกือบทุกวิชา ซึ่งเหมือนกับการสอบครั้งที่ 1/2552 และพบอีกว่าการสอบครั้งที่ 2/2552 นักเรียนที่สอบครั้งแรกทำคะแนนได้ต่ำกว่านักเรียนที่สอบ 2 ครั้งทุกวิชา ทั้งนี้ อาจมีสาเหตุมาจากประสบการณ์ โดยการสอบครั้งที่ 1/2552 ผู้เข้าสอบเป็นนักเรียน ม.5 ที่เพิ่งเรียนมาไม่กี่เดือน เมื่อเทียบกับการสอบครั้งที่ 2/2552 เด็ก ม.5 ที่สอบครั้งที่ 2 จึงมีประสบการณ์ที่สูงขึ้น แต่ก็ยังสรุปไม่ได้ทั้งหมด เนื่องจากมีผู้เข้าสอบเป็นนักเรียน ม.6 รวมอยู่ด้วย

“สำหรับครั้งที่ 2/2552 นี้มีผู้เข้าสอบที่มีอายุมากสุด คือ 39 ปี โดยเข้าสอบในวิชา PAT 4 สถาปัตย์ PAT 5 ครู และ PAT 6 ศิลปะ ซึ่งคะแนนที่ได้ก็ไม่สูงมากนัก สำหรับในครั้งแรกที่พบผู้เข้าสอบเป็นครอบครัวคือผู้ปกครองสอบพร้อมกับลูกด้วยนั้น แต่คราวนี้ไม่มี ทั้งนี้เมื่อจำแนกตามช่วงคะแนนพบว่า 50% ของคนที่เข้าสอบทุกวิชาได้คะแนนค่อนข้างต่ำ หรือไม่ผ่านเกือบทั้งประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการสอบแข่งขันอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำ และมีนักเรียนเพียง 10% เท่านั้นที่สอบ PAT ได้คะแนนสูงในช่วง 200-300 คะแนน”
ศ.ดร.อุทุมพร กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีการสอบหลายครั้งจะทำให้คะแนนสอบดีขึ้นใช่หรือไม่นั้น ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวว่า ยังไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น เด็กที่เรียนในชั้น ม.6 แน่นอนว่าจะมีความรู้ที่มากกว่าเด็ก ม.5 ซึ่งทำให้ได้คะแนนสูงกว่า ขณะเดียวกันผู้เข้าสอบที่ระดับการศึกษาสูงกว่า ม.6 ก็ได้คะแนนสูงกว่าเด็ก ม.6 เช่นกัน

ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวด้วยว่า ผลสอบ GAT ครั้งที่ 1 และ 2 พบว่าเด็กกว่า 50% ได้คะแนนไม่ถึงครึ่งนั้นได้สะท้อนกลับไปถึงการสอนภายในโรงเรียนและครอบครัวว่า สอนให้เด็กอ่าน คิดวิเคราะห์เป็นมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม พบด้วยว่า ในการสอบ GAT 1 ซึ่งเป็นส่วนของการคิดวิเคราะห์นั้น มีนักเรียนที่สามารถสอบในส่วนนี้ได้เต็ม 150 คะแนน ในการสอบทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งเป็นนักเรียน ร.ร.สตรีวัดมหาพฤฒารามในพระบรมราชินูปถัมภ์ ชื่อ น.ส.ยุวพร เกษจุฬาศรีโรจน์ ซึ่งสอบถามเด็กก็พบว่า เด็กไม่ได้กวดวิชา ใช้วิธีการทบทวนบทเรียน อ่านหนังสือด้วยตนเอง ที่สำคัญ คือ ผู้ปกครองจะสอนให้อ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก ฝึกตั้งคำถามจากการอ่าน และสอนให้แสวงหาความรู้อยู่เสมอ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าหากจะสอบ GAT ให้ได้ดีนั้นต้องมีการฝึกอ่าน คิด วิเคราะห์ ที่สั่งสมมาตั้งแต่เด็กด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น