“จุรินทร์” แฉโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ปัญหาอื้อ พบเด็กเลือกประเทศไม่รู้ว่าไม่มีการสอนระดับปริญญาตรี ส่วนเดนมาร์ก สวีเดน มีเงื่อนไขเด็กต้องเรียนภาษา 2 ปี เตรียมมหาวิทยาลัย 1 ปี ถึงจะเข้ามหาวิทยาลัย เจอ นร.บางคนขอเรียนต่อ 8-9 ปีส่วนเด็กขอกลับเมืองไทย เลือกเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน คณะที่มีค่าใช้จ่ายสูง สั่งคณะทำงานหาช่องปรับ ครม.ให้เด็กผิดเงื่อนไขรับใช้สังคม
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการประชุมคณะกรรมการ 1 อำเภอ 1 ทุน โดยคณะทำงานได้รวบรวมปัญหาที่เพิ่มขึ้นมาเสนอให้ที่ประชุมได้รับทราบ เช่น เด็กไปเรียนต่างประเทศโดยไม่ทราบว่าประเทศที่ไปเรียนนั้น ไม่มีการสอนในระดับปริญญาตรี แต่เริ่มต้นสอนระดับปริญญาโท เช่น สเปน ออสเตรีย เป็นต้น ซึ่งขัดกับระเบียบของกองทุนที่กำหนดให้ไปเรียนระดับปริญญาตรี นอกจากนี้ยังพบว่า ประเทศเดนมาร์ก สวีเดน เขามีเงื่อนไขว่าก่อนที่จะเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย จะต้องเรียนภาษาอย่างน้อย 2 ปี เรียนเตรียมมหาวิทยาลัย 1 ปี รวมเป็น 3 ปี ถึงจะเข้ามหาวิทยาลัย
นายจุรินทร์ระบุว่า คณะทำงานต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากความเร่งรีบในการดำเนินโครงการ ขาดการตรวจสอบและเตรียมการให้มีความพร้อมก่อน ส่งผลให้เด็กจำนวนหนึ่งเรียนต่อไม่ได้ ต้องขอกลับมาเรียนในประเทศไทย เด็กบางคนเลือกมหาวิทยาลัยเอกชน คณะทันตแพทย์ มีค่าใช้จ่ายสูงมาก
นายจุรินทร์กล่าวว่า ที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด โดยมีรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นประธาน ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรียน (ก.พ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปพิจารณาว่าเด็กที่ขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขไปจากข้อตกลงเดิม จะมีการปรับหลักเกณฑ์อย่างไรให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และท้องถิ่น โดยให้เวลา 1 เดือนในการปรับเงื่อนไข เพราะเดิมแทบไม่มีเงื่อนไขเลย ขอแค่ให้เด็กกลับเมืองไทย ซึ่งมีเด็กจำนวนไม่น้อยไม่กลับเมืองไทย
“ให้คณะทำงานไปดู 2 ประเด็น ว่ามีความจำเป็นที่จะนำไปสู่ขอทบทวนมติ ครม.ที่เคยระบุให้ไปเรียน 7 ปี โดยไม่ต้องใช้ทุน เพื่อให้เหมาะสมเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและท้องถิ่น กับประเด็นอะไรที่ต้องทบทวนหรือปรับปรุงแก้ไขระเบียบที่คณะกรรมการได้มีมติไปแล้ว โดยมีเป้าหมายให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและท้องถิ่นมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน เป็นภาระของรัฐบาลอย่างน้อย 5,000 ล้านบาท จึงชะลอรุ่นที่ 3 ไว้ก่อน เพราะขณะนี้มีปัญหายุ่บยั่บให้แก้ไข” รมว.ศธ.กล่าวว่า จริงๆ แล้วรัฐบาลมีทุนให้มากมาย แต่เป็นทุนที่มีความรอบคอบและเหมาะสม เช่น 3 จังหวัดชายแดนใต้ เรามีทุนให้ 1 หมื่นทุน ซึ่งไม่มีปัญหาเพราะมีการขบวนการคัดเลือกการให้ทุนที่ชัดเจน ไม่เหมือน 1 อำเภอ 1 ทุน
นายจุรินทร์กล่าวว่า หากแก้เงื่อนไขสำหรับเด็กที่ขอเปลี่ยนเงื่อนไข ส่วนตัวคิดว่าสังคมต้องได้ประโยชน์ด้วย ไม่ใช่เด็กได้ฝ่ายเดียว เช่น เด็กบางคนจะขอเรียนต่อ 8 ปี 9 ปี หรือกรณีต้องเรียนในสาขาที่ขอไปเรียนในประเทศนั้นให้จบ แต่ว่าเรียนไม่จบแล้วกลับมาเรียนในเมืองไทย ตรงนี้ถือว่าไม่ตรงตามเงื่อนไข คณะกรรมการสามารถปรับปรุงเงื่อนไขได้ เช่น ภาครัฐหรือท้องถิ่นต้องการให้เด็กมาทำงาน หรือเด็กที่เรียนเกินเวลาที่กำหนด เช่นเรียนเกิน 7 ปี เด็กจะต้องออกค่าใช้จ่ายเองหรือไม่ในส่วนที่เหลือ อย่างไรก็ตาม คงต้องรอการพิจารณาจากคณะทำงานเสียก่อน ส่วนเด็กที่ไม่ได้ทำผิดเงื่อนไขก็ใช้เงื่อนไขเดิม