xs
xsm
sm
md
lg

นิติเวชฯ เผยหนุ่ม 21 ปีที่นราธิวาส เสพ “4 คูณ 100” ตายรายแรก พบมีฤทธิ์กดประสาท-การหายใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
นิติเวชฯ เผยพบหนุ่มวัย 21 ปี จ.นราธิวาส เสพ 4 คูณ 100 เสียชีวิตเป็นรายแรก หลังชันสูตรชัดผลจากฤทธิ์ไม่พึ่งประสงค์ของยาเสพติดโดยตรง กดประสาทส่วนกลางร่วมกับกดการหายใจ ด้านผลสำรวจความคิดเห็นวัยรุ่นชายแดนใต้ รู้ว่าผิดกฎหมาย แต่ไม่คิดว่ารุนแรง เสพแล้วไม่ติด

พ.ต.ท.ภก.วิเชียร ตั้งธนานุวัฒน์ กลุ่มงานนิติวิทยา สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า จากการติดตามการระบาดของยาเสพติดชนิด 4 คูณ 100 ซึ่งแพร่ระบาดอย่างหนักในกลุ่มวัยรุ่นในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิต เป็นชายอายุ 21 ปี ภูมิลำเนาเดิมอยู่ จ.นราธิวาส ถือได้ว่าเป็นผู้เสียชีวิตรายแรกจากการเสพ 4 คูณ 100 เพราะจากการชันสูตรพบว่า เสียชีวิตจากภาวะกดประสาทส่วนกลางร่วมกับภาวะกดดันการหายใจจากฤทธิ์ไม่พึงประสงค์ของสารเสพติดโดยตรง และการเสริมฤทธิ์ของยาแต่ละชนิด


พ.ต.ท.ภก.วิเชียร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ผลการชันสูตรจากเลือด และปัสสาวะของผู้เสียชีวิต พบ สารเมตาโบไลต์ของยาหลายชนิด เช่น ไมทราไกนีน ซึ่งเป็นสารกลุ่มอัลคาลอยด์จากพืชกระท่อม คาเฟอีน 0.39 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ยาบำบัดความเครียด นอนไม่หลับ (อัลปราโซแลม) 0.2 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ยารักษาโรคซึมเศร้า (นอร์ทริพไทลีน) 1.78 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร เมทาโดน 0.3 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ยาระงับประสาท (ทรามาดอล) 0.27 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร และยากระตุ้นประสาท (เมทแอมเฟตามีน) 0.4 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ซึ่งสารทั้งหมดเป็นส่วนประกอบในการผสมยาเสพติดชนิด 4 คูณ 100 ทั้งสิ้น ซึ่งส่วนผสมหลักคือ น้ำต้มใบกระท่อม น้ำอัดลม ยาน้ำแก้ไอ และยาระงับประสาท หรือยาจุดกันยุงชนิดขด

“ปกติใบกระท่อมถือเป็นพืชเสพติดที่ไม่น่าจะมีอันตรายถึงชีวิต แต่เมื่อนำมาผสมกับสารเพสติดอื่นๆ เป็นสูตร 4 คูณ 100 อาจมีอันตรายทำให้ผู้เสพเสียชีวิตได้จากภาวะได้รับยาเกินขนาด หรือปัญหาความเป็นพิษของยาหลายชนิดที่ออกออกฤทธิ์ร่วมกัน และพร้อมๆ กัน ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดจากผู้เสพไม่มีความรู้เกี่ยวกับขนาด พิษของยา และการเสริมฤทธิ์ของยา และส่วนหนึ่งมากจากยาเสพติด 4 คูณ 100 มีสูตรส่วนผสมที่ไม่แน่นอนจึงเป็นอันตรายต่อชีวิตได้” พ.ต.ท.ภก.วิเชียร

ด้าน นพ.ดำรงค์ แวอาลี จิตแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ยะลา กล่าวว่า ได้ทำการสำรวจค่านิยมและทัศนคติการใช้ยาเสพติดชนิด 4 คูณ 100 ของเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสำรวจความเห็นของเยาวชนที่เสพยาเสพติดชนิดนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 เมษายน 2552 จำนวน 20 ราย พบว่า เยาวชนส่วนใหญ่ทราบว่า 4 คูณ 100 เป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย แต่สาเหตุที่ยังมีผู้เสพมากขึ้น เพราะเห็นว่าเสพแล้วไม่ติดหรือไม่รุนแรงและสามารถเลิกเองเมื่อไหร่ก็ได้ แลเมื่อเสพแล้วไม่มีผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ ไม่ทำให้เสียการเรียน การงาน ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ในทางตรงข้ามกับทำให้มีเพื่อนมากขึ้น และทำให้หายเครียดได้

“ข้อมูลเหล่านี้สะท้องให้เห็นว่าเยาวชนยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอยู่ เพราะยาเสพติดทุกชนิดมีโทษ เป็นอันตรายต่อร่างกายทั้งสิ้น ดังนั้น การบำบัดเลิกยาเสพติด ควรเน้นการบำบัดทางจิตใจควบคู่กับการใช้ยา เพื่อให้เยาวชนรู้เท่าทันพิษภัยของยาเสพติดด้วย” นพ.ดำรงค์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น