xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ปรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยหวัดใหญ่ 2009 ใหม่ เร็วขึ้น หวังยับยั้งยอดเสียชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ปรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ให้ยาผู้ป่วยเร็วทุกราย ตามขนาดน้ำหนักตัว ไม่รอผลแล็บ หวังยับยั้งยอดตาย เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ หรืออายุมากกว่า 65 ปี กลุ่มผู้ป่วย เรื้อรัง แต่อาการไม่รุนแรง ให้ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด 48 ชั่วโมง มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากกรมการแพทย์และคณะแพทยศาสตร์ 9 สถาบัน ช่วยดูแลรายวิกฤต

วันที่ 18 กรกฎาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข สธ.ว่า จากการประชุมหารือร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคเพื่อหามาตรการลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช1เอ็น1 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยมีการปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้แก่ ผู้ที่มีไข้ ร่วมกับไอ เจ็บคอ หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยเช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดเมื่อย อาเจียน ท้องเสีย เพื่อลดการเสียชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งแนวทางดังกล่าวได้จัดส่งให้โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนแล้ว รวมทั้งคณะแพทยศาสตร์ต่างๆ ให้ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งแนวทางนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับองค์การอนามัยโลก

นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการด้านวิชาการและการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ ที่มี รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ เป็นประธาน ได้จัดทำแนวทางในการดูแลผู้ป่วยดังกล่าวโดยจัดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1.ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีอาการปอดอักเสบ ซึมผิดปกติ รับประทานอาหารไม่ได้หรือได้น้อยกว่าปกติ หรือมีปัญหาร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง หรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงของการป่วย ให้รับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลและให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์เร็วที่สุด โดยไม่ต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

กลุ่มที่ 2.กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง และเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรครุนแรง ซึ่งมี 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และกลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง เช่นโรคระบบทางเดินหายใจได้แก่โรคถุงลมปอดโป่งพอง โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคธาลัสซีเมีย ที่ทำให้ภูมิต้านทานโรคในร่างกายต่ำ รวมทั้งผู้ป่วยที่ต้องกินยาแอสไพรินมาเป็นเวลานานเช่นผู้ป่วยโรคหัวใจเพื่อป้องกันเลือกแข็งตัว และผู้ที่มีอ้วนมาก ให้ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด อย่างน้อย 48 ชั่วโมง และพิจารณาให้ยาโอเซลทามิเวียร์ ถ้ามีอาการรุนแรงขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงแรกหรืออาการไม่ดีขึ้นหลังจาก 48 ชั่วโมงไปแล้ว

กลุ่มที่ 3.เป็นผู้ป่วยที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง แนะนำวิธีการดูแลที่บ้าน ให้ยารักษาตามอาการ กลุ่มนี้ส่วนใหญ่อาการจะหายได้เองภายใน 3-5 วัน แต่หากอาการไม่ดีขึ้นและมีอาการคือ หายใจเร็ว หายใจลำบาก ซึมผิดปกติ กินไม่ได้ หรืออาการไม่ดีขึ้นในวันที่ 3 ของการป่วย แนะนำให้ผู้ป่วยรีบมาพบแพทย์ทันที

“การปรับแนวทางการรักษาครั้งนี้ จะช่วยลดความกังวลของประชาชนที่อาจได้รับข้อมูลที่ไม่ชัดเจน เพราะมีการปรับมาตรการให้มีความยืดหยุ่นผู้ป่วยได้รับการรักษาเร็วขึ้นไม่ต้องรอให้มีไข้สูงถึง 3 วัน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหากป่วยให้มาพบแพทย์ทันทีโดยแพทย์จะเฝ้าติดตามอาการใกล้ชิดใน48 ชั่วโมง สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน นอกจากนี้ แนวทางการรักษาดังกล่าวจะบรรจุอยู่ในคู่มือแนวทางการรักษาของแพทย์ด้วย” นพ.ไพจิตร์ กล่าว

นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ส่วนหลักเกณฑ์ในการให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ในรายที่อายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป จะให้ตามขนาดน้ำหนักตัว ขนาดตั้งแต่ 25-75 มิลลิกรัม กินวันละ 2 ครั้ง หากอายุต่ำกว่า 1 ปีจะให้ตามช่วงอายุ คือ ต่ำกว่า 3 เดือน, 3-5 เดือน และ 6-11 เดือน ให้กินขนาด 12-25 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ในการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการจะเน้นเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรงที่มีปัญหาปอดบวมหรือรายที่รับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น

“ขณะนี้จะเน้นให้ผู้ป่วยทุกคนได้เข้าถึงยาเร็วขึ้น พร้อมทั้งจะจัดส่งทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าดูแลผู้ป่วยหนักโดยตรง ซึ่งอยู่ระหว่างหารือถึงความเป็นไปได้ในการนำมาตรการการดูแลผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 ไปใช้ในสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ รวมทั้งคลินิกต่างๆ แต่ยังติดปัญหาเรื่องความพร้อมในการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนบุคลากร รวมทั้งอาจเกิดปัญหาการใช้ยาเกินความจำเป็นด้วย ซึ่งต้องหารือกับผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง” นพ.ไพจิตร์ กล่าว

นพ.ไพจิตร์ กล่าวถึงกรณีที่สถาบันควบคุมมาตรฐานด้านการเกษตรและอาหารแห่งชาติของอาร์เจนตินา ระบุว่า พบสุกรในฟาร์มแห่งหนึ่งที่กรุงบัวโนสไอเรส ติดเชื้อไวรัสชนิดเอ เอช1 เอ็น1 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ว่า เรื่องการเปลี่ยนแปลงกลายพันธุ์ มีการเฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่แรกเริ่มของการพบเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 สำหรับความเสี่ยงของประเทศไทยคงมีน้อย เพราะรู้ล่วงหน้าว่ามีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคณะกรรมการทำงานเฝ้าดูแลใกล้ชิด และพบว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรมีภูมิปัญญาของชาวบ้านที่ดี หากพบว่าตัวเองเป็นไข้ ก็จะหยุดทำงานในฟาร์มทันที

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้กำหนดแนวทางการพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการดูแลรักษาต่อ ได้มีการจัดแบ่งโซนรับผิดชอบร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญจากแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ โดยคณะผู้เชี่ยวชาญมีบทบาทในการให้คำปรึกษาแพทย์ที่รักษา การจัดทีมลงพื้นที่ให้คำแนะนำในกรณีร้องขอ และการฟื้นฟูวิชาการรักษาผู้ป่วยแก่โรงพยาบาลต่างๆ ใน 75 จังหวัดดังนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดูแล 9 จังหวัดภาคเหนือได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์

มหาวิทยาลัยนเรศวร ดูแล 6 จังหวัด ได้แก่ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดีดูแล 7 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี กรมการแพทย์ดูแลจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และสมุทรปราการ ศิริราชพยาบาลดูแลนครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดูแล ปราจีนบุรี นครนายกและฉะเชิงเทรา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ดูแล สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรีและตราด

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดูแล เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่นรวมกับกรมการแพทย์และวิทยาลัยแพทย์มงกุฎเกล้าดูแล ชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ส่วนที่เหลือ 15 จังหวัดภาคใต้ตั้งแต่ ประจวบคีรีขันธ์ จนถึงนราธิวาส อยู่ในความดูแลของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎและกรมการแพทย์ โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
กำลังโหลดความคิดเห็น