“อธิการบดีจุฬาฯ” ชี้ปิดสถาบันการศึกษาหนีหวัด 2009 ไม่ได้ผล มีแต่ผลเสียกระทบสอบปลายภาค ปิดแล้วเด็กไม่อยู่กับบ้านกลับเป็นการแพร่เชื้ออยู่ดี แนะเน้นหยุดกิจกรรมคนหมู่มาก คอนเสิร์ต วอนรัฐบาลเร่งประชาสัมพันธ์ให้คนชินสวมหน้ากาก เผยการระบาดทำประชาชนมีภูมิคุ้มกันขึ้นเอง ด้าน สกอ.ทำหนังสือเวียนส่งตรงมหาวิทยาลัยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันของรัฐบาล ส่วนมาตรการของ สธ.ที่ขอให้หยุดกิจกรรมในมหาวิทยาลัยยังไม่ได้รับรายงาน หากมีแจ้งเข้ามายินดีดำเนินการทันที
นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ติดต่อสอบถามเข้ามาจำนวนมากในส่วนของมหาวิทยาลัยต่างๆ ว่าควรใช้มาตรการปิดการเรียนการสอนเป็นเวลา 2 สัปดาห์หรือไม่ ซึ่งตนเห็นว่า แม้ในด้านระบาดวิทยาจะมีเหตุผลรองรับว่าการที่จะตัดวงจรแพร่ระบาดของโรค ควรให้มีการหยุดกิจกรรมที่ทำให้คนต้องมารวมตัวกันจำนวนมาก เช่น การปิดโรงเรียน หรืองดการจัดคอนเสิร์ตต่างๆ แต่ส่วนตัวแล้วคิดว่าในขณะนี้หากให้ปิดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย หรือโรงเรียนต่างๆ อาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี เพราะจะส่งผลต่อกำหนดการต่างๆ อาทิ การสอบปลายภาค โดยเฉพาะหากปิดเรียนแล้วไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจน นักศึกษาก็จะไปรวมตัวกันในสถานที่ต่างๆ อยู่ดี ซึ่งก็ไม่สามารถหนีพ้นวงจรการแพร่ระบาดได้
อย่างไรก็ตาม มาตรการที่รัฐบาลพยายามรณรงค์ ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากป้องกัน หมั่นล้างมือ และดูแลร่างกายให้แข็งแรงนั้น ทปอ.เห็นว่ายังเป็นมาตรการที่ใช้ได้อยู่ เพียงแต่จะต้องมีการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักและชินกันการใส่หน้ากากมากขึ้น
“ในส่วนการจัดกิจกรรมต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย ผมก็ได้ขอความร่วมมือไปยังคณะ/สาขาวิชาต่างๆ ขอให้พยายามหลีกเลี่ยง และให้มีระมัดระวังหากจะต้องมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ในส่วนของนิสิต หากมีอาการป่วยจะต้องระวังและแยกตัวเองออกมาไม่ไปอยู่ร่วมกับคนหมู่มาก และจากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยาที่ทำนายว่า เชื้อไวรัสหวัดนี้ หากมีการแพร่ระบาดบาดถึงร้อยละ 45-55 ก็จะทำให้ประชาชนเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นเอง ดังนั้นคิดว่าเมื่อจะถึงช่วงของการสอบปลายภาค 1/2552 หรือการสอบวิชาเฉพาะ ของกลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ซึ่งจะจัดสอบในวันที่ 31 ต.ค.นั้น คิดว่าเมื่อถึงเวลานั้นคนไทยคงมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น และไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อกำหนดการสอบดังกล่าว”นพ.ภิรมย์ กล่าว
ด้าน ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ตั้งแต่มีการแพร่กระจายของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นั้นทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ทำหนังสือเวียนไปยังทุกมหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินการตามมาตรการของรัฐบาลที่ประกาศไว้ พร้อมกำชับให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งเฝ้าระวังดูแลนักศึกษา คณาจารย์ บุคลากรเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ การรณรงค์ หรือมาตรการในการดูแล ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ซึ่งเชื่อว่ามหาวิทยาลัยทุกแห่งมีแนวทางในการดูแลเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว สำหรับมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขที่ประกาศขอให้มีมหาวิทยาลัย โรงเรียน งดจัดกิจกรรมต่างๆ นั้นทาง สกอ.ยังไม่ได้รับรายงานขอความร่วมมือ ซึ่งหากแจ้งมา สกอ.ก็ยินดีประสานไปยังมหาวิทยาลัยทุกแห่งดำเนินการ