สบศ.ผุดศูนย์ศิลปวัฒนธรรมพระสุเมรุแห่งแรกที่บางลำพู ยกห้องเรียนดนตรี-นาฏศิลป์-ช่างศิลป์ สัปดาห์ละ 2 ครั้งที่ป้อมพระสุเมรุ หวังสร้างเป็นเส้นทางเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมให้นักท่องเที่ยว นำรายได้เข้าชุมชน
เมื่อวันที่ 13 ก.ค. นายกมล สุวุฒโฑ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ สบศ.ได้มีพระราชบัญญัติสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ พ.ศ.2550 รองรับเป็นสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคล สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เน้นเปิดการเรียนการสอนวิชาชีพถึงวิชาชีพชั้นสูง ด้านนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ คีตศิลป์ ช่างศิลป์ ทั้งไทยและสากล ผลิตงานวิชาการ งานวิจัยศิลปวัฒนธรรมระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ที่สำคัญ ยังได้เน้นให้บริการทางวิชาการ ต่อชุมชน ในท้องถิ่น สบศ.จึงได้จัดทำโครงการศูนย์ศิลปวัฒนธรรมพระสุเมรุ ขึ้น เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมให้ประชาชน เด็กและเยาวชน นำร่องที่ชุมชนบางลำพูเป็นแห่งแรก
อธิการบดี สบศ.กล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่ สบศ.เลือกชุมชนบางลำพูเพราะเป็นชุมชนเก่าแก่มีความเป็นมายาวนานและมีเอกลักษณ์ท้องถิ่นมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีหลักฐานสำคัญ เช่น วัดชนะสงคราม วัดสามจีน หรือวัดสังเวช ชุมชนมอญ ชุมชนมุสลิม มีสำนักนาฏศิลป์และดนตรีไทย สำนักดุริยประณีตสืบทอดมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน เคยมีทั้งโรงละครร้อง วิกลิเก และโรงหนังพากย์ มีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ เช่น ป้อมพระสุเมรุ อาคารโรงเรียนสอนช่างพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทย วังกรมหมื่นกษัตริย์ศรีศักดิเดช (บ้านพระอาทิตย์) วังกรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฎ์ และพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ซึ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ในปัจจุบัน
“กิจกรรมนี้มีลักษณะเหมือนเป็นการท่องเที่ยวเส้นทางโบราณ นักท่องเที่ยวชาวไทย ชาวต่างประเทศสามารถเดินเที่ยวสถานที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ มาตามถนนพระอาทิตย์ที่มีต้นสายจากวังหน้า ผ่านวัด ชุมชน และโบราณสถานที่เก่าแก่งดงามแห่งนี้จะสุดสายปลายทางที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมพระสุเมรุ ที่นี่นักเรียน นักศึกษา สบศ.จะมีการจัดกิจกรรม นิทรรศการ การแสดง และแหล่งเรียนรู้นาฏศิลป์ ดนตรี ช่างศิลป์ สัปดาห์ละ 2 วันตลอดทั้งปี ร่วมกับชุมชนชาวบางลำพู นอกจากจะเป็นการสร้างแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมแล้ว ยังช่วยเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยให้ต่างชาติรู้จัก นำรายได้เข้าชุมชน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติได้อีกทางหนึ่งด้วย” นายกมล กล่าว