xs
xsm
sm
md
lg

“มานิต” เอาจริง ตะลอนตรวจร้านเหล้าวันพระใหญ่ ขู่ถ้าเจอแอบขายฟันไม่เลี้ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
“มานิต” ตรวจเข้มร้านค้างดขายเหล้าวันพระใหญ่ ชี้หากพบว่าฝ่าฝืน จะตักเตือนก่อน พบหนที่ 2 ฟันทันทีจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท พร้อมประกาศเอาจริงห้ามขายเหล้าใต้ถุนหอพักนักศึกษา และสั่งการสธ.จังหวัดตรวจสอบทุกจุดขายแล้ว

วันนี้ (7 ก.ค.) นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมโรค ออกรณรงค์ และประชาสัมพันธ์ การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2552 ในวันพระใหญ่ คือวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี และห้างสรรพสินค้า เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน จ.นนทบุรี

นายมานิต กล่าวว่า หลังจากที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2552 เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. และปรับปรุงแก้ไขลงวันที่ 4 ก.ค. ซึ่งตามประกาศดังกล่าว กำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันพระใหญ่ 4 วัน คือวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา โดยยกเว้นให้ขายในโรงแรม ตามพระราชบัญญัติโรงแรมที่มีการจดทะเบียนที่ถูกต้องเท่านั้น โดยมีผลบังคับใช้ถัดจากวันประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา คือตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

นายมานิตกล่าวว่า ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี เนื่องจากการจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ นอกจากจะขัดต่อหลักศีลธรรมในพุทธศาสนาแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ในการออกตรวจในห้างสรรสินค้าในครั้งนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบการร้านค้าให้รับรู้กฎหมายและปฏิบัติตาม หากยังพบมีการจำหน่าย ในครั้งแรกจะตักเตือนก่อน และหากพบกระทำผิดครั้งที่ 2 จะดำเนินการตามกฎหมายทันที โดยไม่มีการยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น มีโทษจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายมานิต กล่าวต่อไปว่า เป้าหมายการดำเนินการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2 เรื่องแรกที่จะต้องดำเนินการอย่างเฉียบขาดตามกฎหมายโดยเร็วได้แก่ การห้ามขายเหล้าที่ใต้ถุนหอพักนักศึกษา เรื่องที่ 2 คือการควบคุมการขายเหล้าปั่น ซึ่งขณะนี้มีขายทุกจังหวัด แม้ในชนบทก็มี ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศดำเนินการสำรวจว่ามีการขายเหล้าปั่นที่ใดบ้าง และจัดการตามกฎหมาย ส่วนการห้ามขายเหล้าใต้ถุนหอพักนักศึกษาและใกล้สถานศึกษา จะพิจารณาจัดโซนนิ่งการขายให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ. 2551 มาตรการนี้เพื่อให้ร้านค้าดำเนินกิจการอยู่ได้แต่ไม่ผิดกติกา แต่หากมีการกระทำผิดกติกาก็จะถอนใบอนุญาต และไม่ต่อให้อีกต่อไป

ทั้งนี้ ผลกระทบการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากอวัยวะภายในถูกทำลายแล้ว ยังมีปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ครอบครัวขาดความอบอุ่น ปัญหาอาชญากรรม และปัญหาสังคมด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่ก้าวสู่การเป็นนักดื่มเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในช่วงพ.ศ. 2539 – 2550 มีเยาวชนอายุ 15-19 ปี ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 นำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย และที่น่าเป็นห่วงคือ มีเด็กต่ำกว่าอายุ 18 ปี ในสถานพินิจที่กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย/ชีวิต และเรื่องเพศ เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงประมาณร้อยละ 50
กำลังโหลดความคิดเห็น