หวั่นซ้ำรอยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กำชับเข้มกองทุนครู 1.12 หมื่นล้าน ห้ามนำเงินกองทุนไปลงทุนในกลุ่มเสี่ยง-เล่นหุ้น แย้มอาจะนำเงินส่วนหนึ่งไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ฝากธนาคาร และปล่อยให้ครูและบุคลากรทางการศึกษากู้เงินจากกองทุน
นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายพงษ์ชัย ศรีธัญพงศ์ ผู้อำนวยการกองทุนสงเคราะห์ ครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชนได้เสนอแผนการบริหารกองทุน ฯ โดยมีวงเงิน 1.12 หมื่นล้านบาท ต่อนายชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งปลัด ศธ.ให้นำแผนไปเขียนให้ละเอียดแล้วเสนอเข้ามาใหม่ โดยให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้
ทั้งนี้ ได้กำชับให้ ผอ.กองทุนฯ ซึ่งเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ไม่นานนักให้บริหารงานด้วยความโปร่งใส โดยไม่ต้องการให้นำเงินกองทุนไปลงทุนในกลุ่มเสี่ยง เหมือนกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) เช่น อาจจะนำเงินส่วนหนึ่งไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล และอื่นๆ ที่จะมีดอกผลจากการบริหาร แต่ห้ามนำเงินไปซื้อหุ้นอย่างเด็ดขาด
"ผมต้องการให้เขียนแผนอย่างละเอียดและชัดเจนว่า เงินจำนวน 1.12 หมื่นล้านบาท จะบริหารอย่างไรให้ออกดอกออกผล ที่สำคัญเงินต้นต้องอยู่ครบทุกบาททุกสตางค์ ซึ่งหลักๆ อาจกันเงินส่วนหนึ่งไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ฝากธนาคาร และปล่อยให้ครูและบุคลากรทางการศึกษากู้เงินจากกองทุน อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะใช้เงินได้ ต้องเสนอคณะกรรมการ ผู้แทนครู เพื่อพิจารณาร่วมกันว่าเหมาะสมหรือไม่ ก่อนนำเงินไปลงทุน"
นายบัณฑิตย์ กล่าวว่า การบริหารกองทุนฯ จะมีความอิสระ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ ครู บุคลากร ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2 แสนคน คนไหนเดือดร้อนเงิน จะยื่นขอกู้เงินได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ขอกู้แต่ละคน วงเงินกู้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุงาน เงินเดือนที่ได้รับ และผู้ที่มีสิทธิกู้กองทุนนี้ได้ต้องทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี