จิตแพทย์ชี้สื่อ-สังคมสร้างแรงกดดันให้ “ครอบครัวพุ่มพวง” ปัญหาซับซ้อนแก้ยาก เกินเยียวยา ชี้ปัญหาครอบครัวทำให้เครียดถึงเครียดที่สุดเป็นอันดับ 1 แนะเว้นระยะห่างให้คนในครอบครัวเวลาจัดการปัญหา เครือข่ายครอบครัวชี้ติดตามข่าวไกรสร-น้องเพชรต้องนำเป็นบทเรียนมาวิเคราะห์กันในครอบครัว หวั่นเด็กอาจมีพฤติกรรมเลียนแบบ
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักสุขภาพจิตสังคม กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรณีปัญหาความขัดแย้งระหว่าง นายไกรสร ลีละเมฆินทร์ หรือไกรสร แสงอนันต์ อายุ 52 ปี อดีตสามีนักร้องลูกทุ่งชื่อดัง “พุ่มพวง ดวงจันทร์” และนายสรภพ ลีละเมฆินทร์ หรือ “น้องเพชร” ลูกชายนั้น สังคมไม่ควรนำมาเป็นเรื่องทอล์ก ออฟ เดอะ ทาว์น วิพากษ์วิจารณ์หรือตัดสินว่าใครผิด ไม่ดี หรือทำให้ตกเป็นจำเลยของสังคม ซึ่งวุฒิภาวะของสังคมและการเสนอข่าวกลายเป็นการสร้างแรงกดดันทำให้ปัญหาของครอบครัวซับซ้อนและการจัดการแก้ปัญหาฟื้นฟูสัมพันธภาพในครอบครัวได้ยากยิ่งขึ้น ซึ่งในที่สุดอาจจะยากเกินที่จะเยียวยา
“รู้สึกเห็นใจครอบครัวนี้ ปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัวถือเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม โดยจะพบว่า หลายครอบครัวที่มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง ทำให้เกิดความเครียดมากถึงมากมากที่สุด ซึ่งปัญหานี้ถือเป็นอันดับ 1 ยิ่งกว่าเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยเฉพาะบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นบุคคลสาธารณะ สังคมควรจะเว้นระยะห่างให้เวลาโอกาสกับครอบครัวในการจัดการปัญหาได้พูดคุยทำความเข้าใจกัน โดยไม่มีสิทธิที่จะไปตัดสินใคร ไม่ใช่หน้าที่ของเราในการว่ากล่าว ขยายผล เป็นเรื่องไม่สมควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะเหล่านี้อาจมีผลต่อจิตใจของคนในครอบครัวบอบช้ำ ”นพ.ทวีศิลป์กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า สังคมไทยควรได้เรียนรู้การเคารพสิทธิส่วนบุคคลและการมีระยะห่างของบุคคลสาธารณะ ควรรับข้อมูลจากสื่ออย่างมีวิจารณญาณ อย่างกรณีของเด็กชายที่ตามหาพ่อชาวญี่ปุ่นซึ่งเมื่อมีการพูดคุยกันก็มีการคุยกันเป็นการส่วนตัวไม่มีการรายงานรายละเอียดจากสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานที่สื่อมวลชนไทยควรจะยกระดับแม้การยุติการเสนอข่าวอาจไม่ใช่ทางแก้ปัญหาแต่การใช้วิจารณญาณในการนำเสนอข่าวด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์ อาจช่วยทำให้ปัญหาของครอบครัวคลี่คลายและมีความสุขได้
นายวันชัย บุญประชา ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า การนำเสนอข่าวนี้มากๆ อาจทำให้บุตรที่มีสภาวะแวดล้อมใกล้เคียงกับนายสรภพอาจเกิดพฤติกรรมการเลียนแบบได้ อาทิ การด่าทอผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้เป็นพ่อ การฟ้องร้อง ฯลฯ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการนำเสนอของสื่อมวลชนด้วย
“เด็กหลายคนที่มีสภาวะคล้ายน้องเพชรอาจรู้สึกซะใจ แต่ขึ้นอยู่กับการนำเสนอของสื่อมวลชนว่าหากนำเสนอแล้วพบว่า ภาพที่เด็กมีพฤติกรรมกับผู้ใหญ่ที่ก้าวร้าวว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เด็กก็เกิดเรียนรู้และเกิดการเลียนแบบน้อย แต่ในส่วนของพ่อแม่คงไม่มีพฤติกรรมเลียนแบบด้วยการจัดการลูกโดยใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมืออย่างแน่นอน”นายวันชัย กล่าว
นายวันชัย กล่าวว่า หากครอบครัวที่อยู่ในขณะนี้เป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวควรใช้โอกาสนี้ในการนำกรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่างที่จะหันหน้ามาหารือกันเกี่ยวกับทางออกแก้ไขปัญหาหากเกิดขึ้น เหมือนกับดูละคนแล้วย้อนดูตัว เพราะเรื่องนี้สะท้อนถึงการเลี้ยงดูของครอบครัว หากพ่อทำไปด้วยความรัก แสดงว่าคงต้องมีปัญหาในการรักลูก เพราะทำตัวเองเป็นแบบอย่างไม่ดีพอให้ลูกซึมซับ แต่หากทำไปเพราะความไม่รัก ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่แย่มาก เพราะเป็นการนำลูกเป็นเครื่องมือต่อรองกับแม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ครอบครัวไทยควรมาพูดคุยกันในครอบครัววิเคราะห์หาทางออกร่วมกัน จึงจะได้อะไรมากกว่าติดตามข่าวสารที่เป็นอยู่
“นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสัมพันธภาพของพ่อแม่และญาติ ซึ่งผู้ปกครองถือว่าเป็นต้นแบบให้เด็กยึดถือปฏิบัติ ซึ่งหากเด็กได้รับภาพที่สะเทือนใจ การที่ผู้ปกครองทำร้ายกัน พ่อตีแม่ หรือมีสัมพันธ์กับหญิงอื่น ฯลฯ ซึ่งสังคมไทยในปัจจุบันมีพบเห็นกันมากมาย ทำให้เด็กเกิดความเกลียดชัง นำสู่การต่อต้านผู้ปกครองอีกฝ่ายที่เป็นผู้กระทำความรุนแรงจนในที่สุดอาจต่อต้านสังคมก็เป็นได้”นายวันชัย กล่าว