“อารักษ์” วางฐาน สศร.ใหม่ ปรับบทบาทการทำงานให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ ภาพยนตร์ สินค้าทางวัฒนธรรม ให้เป็นกรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ปรับบทบาทให้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เน้นเข้าถึงท้องถิ่น พัฒนาภูมิปัญญา ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย
นายอารักษ์ สังหิตกุล ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) เปิดเผยว่า ตนได้จัดทำร่างโครงสร้างของ สศร.ใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจะเปลี่ยนชื่อเป็น กรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และจะปรับบทบาทการทำงานให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ ภาพยนตร์ สินค้าทางวัฒนธรรม ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจ 3 ข้อ ได้แก่ 1.ส่งเสริม สนับสนุน ศึกษาวิจัย เผยแพร่และสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย 2.ส่งเสริม พัฒนาแหล่งเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ และการเลือกสรรศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่เหมาะสม เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข และ 3. ส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนางานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อสร้างคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ
นายอารักษ์กล่าวต่อไปว่า ส่วนโครงสร้างใหม่ของผู้บริหารกรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ประกอบด้วย อธิบดีกรม 1 ตำแหน่ง รองอธิบดี 2 ตำแหน่ง แบ่งการทำงานเป็น 5 สำนัก และอีก 3 กลุ่มการทำงาน ได้แก่ สำนักงานเลขานุการกรม สำนักส่งเสริมพัฒนาเครือข่ายศิลปะร่วมสมัยและแหล่งทุน สำนักส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม สำนักพัฒนาแหล่งเรียนรู้ สถาบันอบรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร กลุ่มตรวจสอบภายใน และกลุ่มเทคโนโลยีและสารสนเทศ โดยมีตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารสำนัก และมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการทำหน้าที่ส่งเสริมงานประยุกต์ศิลป์ (ภาพยนตร์) ส่งเสริมงานวิจิตรศิลป์ (ทัศนศิลป์)
“ในอนาคตบทบาทของ สศร.จะต้องเปลี่ยนไป ต้องเข้าถึงท้องถิ่น มีการศึกษา วิจัย พัฒนาองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ให้ผสมผสานกับงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างจริงจัง รวมทั้งต้องมีแหล่งเรียนรู้งานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ที่สำคัญจะต้องส่งเสริมงานเครือข่ายองค์กรศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างครั้งนี้น่าจะยังไม่สำเร็จในยุคของผม แต่ผมก็จะวางโครงสร้างไว้เป็นระบบ เพื่อรองรับการเติบโตขององค์กรให้สามารถพัฒนางานด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่เป็นประโยชน์สู่ภาคประชาชนในอนาคต” ผอ.สศร.กล่าว