xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ครู-ผู้ปกครองยังเมินหน้ากากอนามัย สธ.ชวนใช้ลายกิ๊บเก๋ ลดความน่ากลัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
เร่งปลูกฝังวัฒนธรรมใช้หน้ากากอนามัยเมื่อป่วย อย่างญี่ปุ่น ล้างมือบ่อยๆ เหมือนอเมริกา ป้องกัน และลดความเสี่ยงแพร่เชื้อ ชวนใช้หน้ากากอนามัยลายน่ารัก กิ๊บเก๋ ลดความน่ากลัวของโรค เผย กลุ่มผู้ป่วยที่มารับบริการในโรงพยาบาลใช้หน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น เตรียมขยายผลคลอบคลุม โรงพยาบาล 834 แห่ง ทั่วประเทศ ขณะที่โรงเรียน ครู-นักเรียน-ผู้ปกครองยังเมินป้องกัน รณรงค์ 5 ปี ให้หน้ากาก-เจลล้างมือฟรีไม่มีใครเอา

วันที่ 16 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สมชัย นิจพานิช รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ประธานกรรมการทุนวิจัยวัณโรคดื้อยา ศิริราชมูลนิธิ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และ นางนิโคล เทริโอ ศิลปินบริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ร่วมกันแถลงข่าว การรณรงค์ใช้หน้ากากอนามัยในโรงพยาบาล เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเดินหายใจและโรคติดต่ออุบัติใหม่ต่างๆ

นายมานิต กล่าวว่า สธ.ได้ร่วมกับทุนวิจัยวัณโรคดื้อยา ศิริราชมูลนิธิในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ จัดโครงการสัปดาห์รณรงค์การใช้หน้ากากอนามัยควบคู่กับการล้างมือในโรงพยาบาลต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ระหว่างวันที่ 22-28 มิถุนายน 2552 โดยในปีนี้ จะขยายครอบคลุมโรงพยาบาลในสังกัด 834 แห่งทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยโรคติดต่อทางเดินหายใจที่มารับการรักษาในโรงพยาบาล สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลดีในการป้องกันการแพร่เชื้อโรคสู่ผู้อื่น รวมทั้งให้บุคลากรในโรงพยาบาลเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้หน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ สร้างค่านิยมให้ประชาชนมีความรับผิดชอบต่อสังคม ใส่ใจห่วงใยคนรอบข้าง โดยอาจใส่หน้ากากอนามัยที่มีการพิมพ์ลายน่ารักใส่แล้วดูเก๋ เพื่อสร้างบรรยากาศลดความน่ากลัวของโรค

“จากข้อมูลองค์การอนามัยโลกพบว่า การใส่หน้ากากอนามัยจะช่วยลดการแพร่กระจายของละอองเล็กๆ จากการไอ จามที่มีเชื้อโรคอยู่ ได้ถึงร้อยละ 80 และการล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังการไอ จาม หรือสัมผัสน้ำมูก จะช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเดินหายใจได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ สธ.จะสนับสนุนหน้ากากอนามัยให้โรงพยาบาลทุกแห่งจำนวนกว่า 1 ล้านชิ้น”นายมานิต กล่าว

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ สำหรับโครงการรณรงค์การใช้หน้ากากอนามัยในโรงพยาบาล ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2550 จากการประเมินผลพบว่าบุคลากรมีพฤติกรรมการใช้หน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 96 ส่วนผู้ป่วยใช้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 80 โดยผู้ป่วยร้อยละ 86 เห็นว่า หน้ากากอนามัยช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคได้ แต่ยังมีผู้ป่วยอีกร้อยละ 20 เห็นว่า การสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะอาจถูกรังเกียจ ขณะที่การรณรงค์ในโรงเรียนมัธยมต้น-มัธยมปลาย จำนวน 30 แห่ง ยังไม่ประสบความสำเร็จไม่สามารถปลูกฝังให้นักเรียน ครูและผู้ปกครอง มีวัฒนธรรมการใช้หน้ากากอนามัย เพราะมีอัตราการใช้หน้ากากอนามัยต่ำ แม้จะมีการแจกทั้งหน้ากากและเจลล้างมือฟรี แต่ไม่มีใครต้องการ และเหลือเป็นจำนวนมาก

“สาเหตุที่ในอเมริกามีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่พันธุ์ใหม่จำนวนมาก เพราะประชาชนไม่ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ โดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งขณะนี้มียอดผู้ป่วย 17,000 คน เสียชีวิต 45 ราย แต่คาดว่าตัวเลขจริงๆ น่าจะมีผู้ป่วยกว่า 1 แสนราย เพราะไม่ได้มีการตรวจผู้ติดเชื้อทุกคน 70% อยู่ในกลุ่มอายุ 5-25 ปีมากที่สุด แต่มีข้อดีที่ชาวอเมริกาจะล้างมือบ่อย ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการใส่หน้ากากแต่ไม่ล้างมือ จึงอยากให้ใช้ข้อดีของทั้ง 2 ประเทศมาปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ 1 ล้านคน จะเสียชีวิตเพียง 200 คน ซึ่งถืออัตราการตายต่ำมาก ขณะที่ ผู้ป่วยวัณโรคหากป่วย 1 แสน คนจะเสียชีวิต 12,000 คน”นพ.มนูญ กล่าว

นพ.มนูญ กล่าวอีกว่า การใส่หน้ากากอนามัยโดยใช้วิธีไม่แพร่เชื้อโดยสมัครใจ ไม่ได้ผลแต่ควรใช้มาตรการทางสังคมกดดันด้วย อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่า การรณรงค์อย่างต่อเนื่องจะช่วยเพิ่มพฤติกรรมการใช้หน้ากากอนามัยในผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้และจะช่วยให้ทุกคนยอมรับว่าการสวมหน้ากากอนามัยถือว่าเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ผู้ป่วยไข้หวัดจะไม่แพร่เชื้อให้กับคนอื่นๆ

ด้านนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคติดต่อทางเดินหายใจต่างๆ รวมถึงโรคติดต่ออุบัติใหม่ เช่น โรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก และโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช1เอ็น1 ที่กำลังแพร่ระบาดทั่วโลกในขณะนี้ รวมทั้งวัณโรค มีการแพร่กระจายเชื้อได้ 2 ทาง คือ การสัมผัสทางตรง จากการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยและมีการไอ จามรดกัน ซึ่งป้องกันได้ด้วยการให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัย และการสัมผัสทางอ้อม โดยมือที่สัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน แล้วมีการสัมผัสกับจมูก ตา หรือนำเข้าปาก ซึ่งการล้างมือบ่อยๆ จะช่วยลดความเสี่ยงได้อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจสวมหน้ากากอนามัยในโรงพยาบาล ยังช่วยลดการแพร่เชื้อไปยังผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ ญาติ และผู้ที่มาเยี่ยมผู้ป่วย ด้วย

นพ.สมชัย นิจพานิช รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับโรคติดต่อทางเดินหายใจที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ วัณโรค ปอดบวม และ โรคไข้หวัดใหญ่ โดยสถานการณ์ปี 2551 มีผู้ป่วยวัณโรคทั้งหมด 25,248 ราย เสียชีวิต 134 ราย โรคปอดบวม มีผู้ป่วยทั้งหมด 136,585 ราย เสียชีวิต 957 ราย และ ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 20,881 ราย เสียชีวิต 2 ราย ส่วนในปี 2552 ตั้งแต่ 1 มกราคม-9 มิถุนายน 2552 ได้รับรายงานผู้ป่วยวัณโรคแล้ว 11,675 ราย เสียชีวิต 64 ราย โรคปอดบวม 48,659 ราย เสียชีวิต 398 ราย และผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ปกติที่ระบาดตามฤดูกาล 5,607ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตราย

ทั้งนี้ ได้มีการมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดวิดีโอคลิป เรื่อง “คนรุ่นใหม่ใส่ใจใช้หน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่เชื้อโรคทางเดินหายใจ” โดยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ น.ส.ชัคคนตา เพ็งอุดม และ นายดิษพงศ์ วงศ์อร่าม ได้รับเกียรติบัตรพร้อมเงินรางวัล 15,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศ 2 รางวัล รับเกียรติบัตรพร้อมเงินรางวัล 7,500 บาท ได้แก่ 1.นายราชันต์ ชูทอง และ 2.นายวัชระ ดวงเกิด และ นายธันยา ศรีรัตน์
กำลังโหลดความคิดเห็น