มจพ.เปิดตัว iRAP_PRO แชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยไทยพร้อมชิงชัยหุ่นยนต์โลก นักศึกษาไทยลั่นคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 4 ให้คนไทยชื่นชม เผยหุ่นสมรรถนะพร้อมโกอินเตอร์ 100 เปอร์เซ็นต์
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) บริษัท ซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ได้จัดการเปิดตัวทีม iRAP_PRO นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จาก มจพ.แชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยประเทศไทยเพื่อที่จะไปแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลกในงาน World RoboCup ณ เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย.-5 ก.ค.นี้
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลกในปีนี้ ก็คือ การเพิ่มกติกาการแข่งขันให้ซับซ้อนให้ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริงมากขึ้น เท่ากับว่า แต่ละประเทศจะต้องทำการพัฒนาสมรรถนะหุ่นยนต์ให้มากตามไปด้วย สำหรับตัวแทนประเทศไทยเท่าที่ตนได้สัมผัสพบ ว่า มีข้อได้เปรียบเรื่องการเคลื่อนที่ปีนป่ายเพื่อหาเหยื่อ ซึ่งถือว่าเหนือกว่าคู่แข่ง แต่สำหรับคู่แข่งที่ประมาทไม่ได้ของเยาวชนไทย คือ ประเทศญี่ปุ่น อิหร่าน ซึ่งเคยมาร่วมแข่งขันกับทีม iRAP_PRO แล้วในระดับนานาชาติ อย่างไรก็ตาม ตนมีความมั่นใจในฝีมือของเด็กไทยว่าจะสามารถรักษาแชมป์โลกสมัยที่ 4 ไว้ได้
ด้านนายอาทิตย์ ตระกูลธงชัย หัวหน้าทีม iRAP_PRO มจพ.กล่าวว่า การเดินทางไปแข่งขันระดับโลกครั้งนี้ iRAP_PRO ได้นำหุ่นยนต์ทั้งหมด 3 ตัว ประกอบด้วย หุ่นยนต์บังคับด้วยมือ 2 ตัว และหุ่นยนต์อัตโนมัติ 1 ตัว ซึ่งจุดเด่นของหุ่นอยู่ที่การเคลื่อนที่บนพื้นผิวขรุขระและทุกสภาพผิว ทุกตัวจะมีกล้องติดอยู่มีความคล่องตัวสูง และมีความแข็งแรงสามารถรับน้ำหนักได้ดี นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติให้เพิ่มขีดการมองเห็น ประกอบกับการฝึกฝนนานกว่า 6 เดือนหลังจากได้แชมป์ประเทศไทย ทำให้มั่นใจว่า iRAP_PRO จะรักษาแชมป์โลกที่รุ่นพี่ทำไว้ได้
ขณะที่นายธีรวัฒน์ เบ็ญจวิไลกุล ผู้ออกแบบหุ่น กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนประเทศไทยจะทำการแข่งขันให้เต็มความสามารถ แม้จะเป็นการแข่งขันระดับโลกครั้งแรกสำหรับ iRAP_PRO แต่ไม่รู้สึกกดดันมากนัก เพราะทีมได้คิดค้น พัฒนาหุ่นยนต์อยู่ในสถานะที่พร้อมตลอดเวลา อย่างไรก็ตามจะไม่ประมาท ซึ่งเพื่อนร่วมทีมได้เข้าไปศึกษากลยุทธการพัฒนาหุ่นของประเทศต่างๆ ทั้งจากอินเทอร์เน็ตและสื่อช่องทางอื่น จึงมั่นใจว่าข้อมูลที่มีอยู่จะสามารถปรับแก้ข้อบกพร่องของทีมได้
อนึ่ง แข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ประเภทหนึ่งใน World RoboCup ซึ่งมีการจัดอย่างต่อเนื่องปีละ 1 ครั้ง โดยในปี 2552 นี้จะจัดที่ประเทศออสเตรีย มีผู้สมัครเข้าแข่งขัน 24 ทีม จาก 13 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย ออสเตรเลีย แคนาดา จีน เยอรมนี กรีซ อิหร่าน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก ปากีสถาน สวีเดน สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย