ประเทศไทยเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยผลไม้นานาชนิด และมีให้เลือกกินได้แตกต่างกันไปในทุกฤดูกาล แต่สิ่งที่ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ คือ คนไทยกินผลไม้ในปริมาณที่น้อยมาก
ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นชัดเจน ก็คือ ผลสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการของประเทศไทย ครั้งที่ 5 ที่พบว่า คนไทยยังกินผลไม้เฉลี่ยเพียงวันละ 1 ขีด หรือประมาณ 100 กรัมเท่านั้น โดยเด็กนักเรียนกินผลไม้เฉลี่ยวันละ 61.5 กรัม วัยทำงานกินผลไม้เฉลี่ยวันละ 77.1 และผู้สูงอายุกินผลไม้เฉลี่ยวันละ 63.6 กรัมเท่านั้น ทั้งๆ ที่ทุกกลุ่มวัยควรกินผลไม้ให้มากขึ้นประมาณ 280-480 กรัม/วัน
นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา รองอธิบดีกรมอนามัย อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมว่า จากสถิติดังกล่าวเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลรายละเอียดก็จะเห็นว่า เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องรีบแก้ไขโดยเร่งด่วน ยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุด้วยแล้ว ยิ่งจำเป็นต้องมีการกินผลไม้เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการเสื่อมของเซลล์มากกว่าวัยอื่นๆ และเป็นวัยที่ต้องการวิตามินและเกลือแร่เพื่อยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระที่เป็นสารทำลายเซลล์และเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง อีกทั้งยังต้องการกากใยเพื่อช่วยในการขับถ่ายด้วย
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ปริมาณลิ้นจี่ในปีนี้ที่ให้ผลผลิตสูง ทำให้มีปริมาณที่มากเกินกว่าความต้องการของตลาด ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่เป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงแนะนำให้หันมาช่วยกันกินลิ้นจี่เพราะนอกจากจะเป็นอีกหนึ่งทางที่ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือนร้อน แล้วการกินลิ้นจี่ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย
“ลิ้นจี่จัดเป็นผลไม้ที่ให้น้ำตาลฟรุกโตส ซึ่งเป็นน้ำตาลเชิงเดี่ยวที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ทันที และมีวิตามินซีสูง มีหน้าที่ที่สำคัญในการทำให้เซลล์ผิวหนัง กระดูกอ่อน เอ็น กล้ามเนื้อ ผนังเส้นเลือด โครงสร้างภายในกระดูกและฟันแข็งแรง และการกินลิ้นจี่ให้ได้คุณค่าทางโภชนาการนั้น ควรกินครั้งละ 6-8 ผล หรือประมาณ 100 กรัมหลังมื้ออาหาร โดยในแต่ละมื้อควรกินอาหารจานหลักและตามด้วยผลไม้ 1 ส่วนหรือประมาณ 70-120 กรัม แทนขนมหวานที่ทำจากแป้งและน้ำตาล จะทำให้ได้รับวิตามินและเกลือแร่ตามที่ร่างกายต้องการ อันจะส่งผลดีต่อร่างกายในระยะยาวอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักควรเลือกกินผลไม้ที่รสไม่หวานจัดแทน” รองอธิบดีกรมอนามัยแนะนำ
สำหรับปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นั้น พืชผัก ผลไม้หรือสมุนไพรไทยๆ ก็สามารถช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกายได้ดีเช่นกัน โดยนพ.นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้ข้อมูลว่า อาหารที่แนะนำให้รับประทานในช่วงนี้ชนิดแรกคือ เมี่ยงคำที่เป็นสูตรผสมระหว่างสมุนไพรหลายชนิด เป็นเมนูที่สร้างเสริมสุขภาพสร้างภูมิต้านทานโรคป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ รวมกระทั่งถึงพลูคาว หรือคาวตองซึ่งเบื้องต้น พบว่า เป็นพืชสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมละเหยช่วยต้านไวรัสในหลอดทดลองและช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย
นอกจากนี้ ยังมีผักและผลไม้อีกหลายประเภทที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้มเขียวหวานมีวิตามินซี 42 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัมของส่วนที่กินได้ มะระขี้นกมีวิตามินซี 190 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัมของส่วนที่กินได้ ฝรั่งมีวิตามินซี 187 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ของส่วนที่กินได้ ดอกขี้เหล็กมีวิตามินซี 484 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ของส่วนที่กินได้ เป็นต้น
“พืชผักเหล่านี้สามารถนำผักมาลวกจิ้มกับน้ำพริก หรือรับประทานผลไม้สดๆ อย่างหลากหลาก และรับประทานอาหารอย่างอื่นครึ่งหนึ่งผักครึ่งหนึ่งจะช่วยให้ได้รับวิตามินซีที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายคือ 500-1,000 มิลลิกรัมต่อวัน” ภญ.ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร หัวหน้างานพัฒนาวิชาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทยชี้แนะ