“จุรินทร์” ปรับเกณฑ์คัดเลือก ผอ.และรอง ผอ.สถานศึกษาหลังประสบปัญหาพื้นที่ห่างไกลไม่มีผู้สนใจสมัครสอบบรรจุ ให้ผู้สมัครระบุจังหวัดที่ต้องการไปทำงานตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แข่งขันกันเฉพาะที่เลือกพื้นที่เดียวกัน ไม่ต้องแข่งขันสนามใหญ่ พร้อมปรับเกณฑ์สอบภาค ก.ลงจากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 50 เพื่อให้มีผู้ผ่านเกณฑ์ขั้นแรกมากขึ้น แก้ปัญหาขาดแคลนรอง ผอ.สถานศึกษาทั้งระบบ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมมีมติปรับหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้อำนวยการ (ผอ.) และรอง ผอ.สถานศึกษาทั่วประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาว่าในบางเขตพื้นที่ไม่มีผู้สมัครสอบไปประจำในเขตพื้นที่นั้นๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่พิเศษที่มีปัญหา ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการในสถานศึกษา ซึ่งแต่เดิมกำหนดให้การสอบคัดเลือกแบ่งออกเป็น 3 ภาค เริ่มจากการสอบภาค ก.ที่จัดสอบโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แล้วคัดเลือกผู้สอบผ่านขึ้นบัญชีไว้ที่ส่วนกลาง เมื่อ สพท.ใดมีตำแหน่งว่างก็จะจัดสอบภาค ข.และภาค ค.ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งผู้ที่ถูกขึ้นบัญชีภาค ก.ไว้จึงจะมีสิทธิสมัครสอบ ขณะที่ผู้ที่สอบได้บางคนเมื่อต้องไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ห่างไกลก็ขาดความกระตือรือร้นในการทำงานเพราะไม่ใช่พื้นที่ที่ตนเองเลือกไว้
“เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงปรับระบบใหม่ โดยขอให้ผู้สมัครสอบตำแหน่ง ผอ.และ รอง ผอ.สถานศึกษา ระบุพื้นที่ที่ต้องการไปปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เริ่มสมัคร ว่าสนใจจะเข้ารับการบรรจุในจังหวัดและเขตพื้นที่ใด โดยให้ยึดจังหวัดเป็นหลัก เพื่อจูงใจให้ผู้สมัครเลือกบรรจุในพื้นที่ห่างไกลมากยิ่งขึ้น เพราะวิธีการดังกล่าวจะทำให้มีคู่แข่งน้อยลงโดยผู้ที่เลือกบรรจุในพื้นที่ห่างไกลจะแข่งขันกันเฉพาะผู้ที่เลือกพื้นที่เดียวกันเท่านั้น ไม่ต้องแข่งขันกับผู้สมัครสอบทั้งหมดในสนามใหญ่ จึงมีโอกาสในการผ่านคัดเลือกมากยิ่งขึ้น ซึ่งวิธีการที่ให้ผู้สมัครระบุพื้นที่ปฏิบัติงานก่อนสอบนั้น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้ใช้แก้ปัญหาขาดแคลนผู้อำนวยการสถานศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ผลดีมาก่อน”รมว.ศึกษาธิการกล่าว
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากนี้ ก.ค.ศ.ได้พิจารณาปรับเกณฑ์การสอบคัดเลือกภาค ก.ลงมา จากเดิมกำหนดว่าต้องผ่านเกณฑ์อย่างน้อย 60% เป็น 50% ทั้งระบบ เพื่อให้มีผู้ผ่านการทดสอบภาค ก.มากขึ้น เพราะที่ผ่านมามีปัญหาขาดแคลน รอง ผอ.สถานศึกษาในหลายพื้นที่ เนื่องจากผู้สมัครไม่ต้องการบรรจุข้ามภาค เช่น คนภาคหนึ่งก็ไม่ต้องการไปทำงานอีกภาคหนึ่ง เป็นต้น อีกทั้งผู้สมัครไม่สามารถผ่านเกณฑ์การสอบภาค ก.จำนวนมาก การลดเกณฑ์ภาค ก.ลงมานั้น จะไม่กระทบต่อมาตรฐานและคุณภาพของผู้ปฏิบัติหน้าที่ ผอ.และรอง ผอ.สถานศึกษาอย่างแน่นอน เนื่องจากการสอบภาค ก.เป็นเพียงด่านแรกเท่านั้น แต่ผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งจะต้องผ่านการทดสอบภาค ข. และภาค ค.ซึ่งเป็นเรื่องของการทดสอบการปฏิบัติงานบริหารอย่างแท้จริง ซึ่งการสอบภาค ข.และ ค. จะไม่มีการลดเกณฑ์ลงมาอย่างเด็ดขาด