“จุรินทร์” ปลดล็อกโรงเรียนตั้งเกณฑ์เด็กจบ ม.3 เกรดไม่ถึง ให้ออกแล้วสอบเข้าใหม่ แย้มพบปัญหาจ่ายเงินค่าบำรุงการศึกษา สั่ง สพฐ.ปรับเกณฑ์ให้เด็กเลื่อนชั้นเรียนจนถึง ม.ปลาย พร้อมสั่งทุกสังกัดทำหนังสือถึงโรงเรียน ให้เด็กจดบันทึก ขีดเส้นใต้ หนังสือยืมเรียนได้
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ต้องมีการปรับปรุงในการรับนักเรียนในปีการศึกษา 2553 ซึ่งนักเรียนที่เข้าเรียนตั้งแต่ชั้น ม.1 ในโรงเรียนมัธยมที่เปิดสอนตั้งแต่ชั้น ม.1 ถึง ม.6 สามารถเลื่อนชั้นเรียนต่อมัธยมปลายได้ เพราะตอนนี้มีปัญหาเกิดขึ้น เมื่อเด็กเรียนจบชั้น ม.3 ทางโรงเรียนไปกำหนดเกณฑ์ว่าถ้าคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนด จะให้เด็กออกจากการเรียน ถ้าจะกลับเข้ามาเรียน ม.4 ในโรงเรียนเดิมจะต้องเข้าสู่ขบวนการสอบคัดเลือกใหม่ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ ตนได้มอบให้ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาฯ สพฐ. ไปดูว่าปีการศึกษาหน้าจะปรับกฎเกณฑ์อย่างไรบ้าง
“เด็กที่เรียนอยู่ชั้น ม.1 ถึง ม.3 แล้วพบผลว่าผลการเรียนออกมาต่ำ จะถือว่าเป็นความผิดของเด็กฝ่ายเดียวก็ไม่เป็นธรรม จะถือว่าเด็กไม่สามารถเรียนต่อในโรงเรียนเดิมในชั้น ม.4 หากจะเรียนต่อต้องสอบเข้าใหม่ หากเป็นเช่นนี้ ก็ถือว่าไม่เป็นธรรม ความรับผิดชอบอีกครึ่งหนึ่งต้องเป็นของโรงเรียนด้วย ที่ไม่สามารถสอนให้เด็กมีคะแนนเป็นที่น่าพอใจ หรือได้คะแนนเกินเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนด เพราะฉะนั้น ถ้าเด็กได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์แล้วจะถือเป็นเหตุให้เด็กเรียนต่อชั้น ม.4 ไม่ได้ ดังนั้น หากเด็กได้เข้าเรียนชั้น ม.1 แล้วก็ต้องให้เด็กเรียนจนถึง ม.6” นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า การให้เด็กออกแล้วมาสอบเข้า ม.4 มีปัญหาหรือข้อกล่าวหาว่าเกี่ยวกับการจ่ายเงินบำรุงการศึกษา
ถามว่าโรงเรียนมีห้องเรียน ม.ปลายน้อยกว่า ม.ต้น นายจุรินทร์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องไปดูรายละเอียดกัน แต่ถึงขั้นไปโยนความผิดของเด็กว่าเข้าเรียนต่อไม่ได้ ตรงนี้ถือว่าไม่เป็นธรรมแก่เด็กเหมือนกัน แล้วจะมีปัญหาร้องเรียนตามมา อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะให้ เลขาฯ สพฐ.แจ้งไม่ให้โรงเรียนออกเกณฑ์บังคับ
ถามว่า รมว.ศธ.ได้รับการร้องเรียนปัญหานี้ นายจุรินทร์กล่าวว่า ใช่ เด็กเรียนจบ ม.3 แล้วต้องมานั่งนับ 1 กันใหม่ แล้วยังมีปัญหาเรื่องเงินบำรุงการศึกษา อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้มอบให้ เลขาฯ สพฐ.ไปดูว่าจะการปรับได้อย่างไร
นายจุรินทร์กล่าวว่า ตามโครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ขณะนี้มีประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้หนังสือเรียนที่โรงเรียนเป็นผู้จัดซื้อ หรือหนังสือยืมเรียนเป็นเวลา 3 ปี ยังเข้าใจไม่ตรงกันว่านักเรียนสามารถจดบันทึกและขีดเส้นใต้ในหนังสือยืมเรียนได้หรือไม่ เพื่อให้เข้าใจตรงกัน ขอแจ้งว่า นักเรียนสามารถบันทึกและขีดเส้นใต้ ลงไปในหนังสือยืมเรียนได้ ตนได้มอบให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำหนังสือแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่และสถานศึกษาทุกแห่งรับทราบ เพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษาแจ้งให้นักเรียนทราบด้วย
“มีข่าวว่าบางโรงเรียนกำหนดบทลงโทษนักเรียน หากไปบันทึกโน้ตย่อหรือขีดเส้นใต้ หรือทำหนังสือชำรุด หากโรงเรียนมีข้อกำหนดดังกล่าว ขอให้ยกเลิก และให้ถือคำสั่งของกระทรวงศึกษา เป็นหลัก ให้เด็กเขียน จดบันทึกในหนังสือยืมเรียนได้” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ด้านน.ส.เฟืองฟ้า ประดิษฐ์พจน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยา กล่าวว่า สตรีวิทยา ตั้งเกรดไว้แค่ 2.00 เท่านั้น แล้วแจ้งให้นักเรียน ผู้ปกครองทราบตั้งแต่เรียนอยู่ ม.1 ม. และ ม. 3 แจ้งให้รู้เป็นระยะ เพื่อกระตุ้นให้เด็กกระตื้อรือร้น ตั้งใจเรียนมาก คือก่อนหน้าที่จะตั้งเกณฑ์นี้ บรรดาผู้บริหารสถานศึกษาหลายแห่ง คุยกันถึงปัญหาเด็กไม่ตั้งใจเรียน จึงมาขออนุญาต สพฐ.ตั้งเกณฑ์ขึ้น ส่วนโรงเรียนแห่งไหนกำหนดเกรดเฉลี่ยท่าไหร่ขึ้นอยู่กับแต่ละแห่ง
ส่วนของสตรีวิทยา ไม่ได้ตั้งเกณฑ์สูง เพราะรักลูกศิษย์ทุกคน อย่างไรก็ตามจะเน้นย้ำตลอดให้ตั้งใจเรียน แล้วผู้ที่ขึ้นไปเรียน ม. 4 ได้ ต้องมีคุณสมบัติ 2 ประการ วิชาการ คุณลักษณะอันพึ่งประสงค์ อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมามีเพียง 6 คนเท่านั้นที่ไม่ผ่านเกณฑ์ และการเปิดรับเด็ก ม. 4 เรารับเฉพาะห้องเรียนพิเศษเท่านั้น
“หาก ศธ.มีนโยบายอย่างไร สตรีวิทยาพร้อมจะปฏบัติตาม ถ้ามาถามว่าควรกำหนดเกณฑ์ บอกว่าควร อาจให้ สพฐ.กำหนดเกณฑ์กลาง เพราะว่าโรงเรียนบางแห่งกำหนดเกรดไว้สูง 2.7 บางแห่งสูงกว่านี้ แต่ควรมีเกรดกลาง เหมือนการออกกฎหมายให้ปฏิบัติเพื่ออยู่ภายใต้กรอบกฎหมายกำหนด”
ขณะที่ นางจำนงค์ แจ่มจันทร์วงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีอยุธยา กล่าวว่า กำหนดเกรดไว้ที่ 2.7 ยอมรับว่าสูง แต่ไม่ได้มีเจตนาสะกัดนักเรียน เพียงแต่มีปัญหาห้องเรียน ครูผู้สอน ไม่พอ เราเปิดสอนระดับมัธยมต้น 12 ห้อง พอมาถึง มัธยมปลาย เหลือ 10 ห้อง เพราะฉะนั้นเด็กต้องถูกออกไปเกือบ 100 คน ซึ่งทุกครั้งที่ลูกศิษย์ออกจากโรงเรียนรู้สึกเสียใจ
“พยายามแก้ปัญหาเรื่องครูผู้สอนและห้องเรียน ซึ่งห้องเรียนพอเคลียร์ได้ แต่ครูนี่ดิ จะให้ครู ม.ต้น มาสอน ม.ปลาย ก็ไม่ใช่ เพราะเขาไม่ได้เชี่ยวชาญวิชาการเฉพาะสาขา จะมองหาอัตราจ้างมาเสริม ต้องเลือกคนดี เก่ง” นางจำนงค์ กล่าวต่อว่า ต้องการเก็บเงินบำรุงการศึกษา คงไม่ใช่บทสรุปเสมอไป เพราะศรีอยุธยา ไม่มีห้องเรียน ครูผู้สอน อย่างไรก็ตาม หากต้องการให้รับเด็กเลื่อนชั้นทั้งหมด ก็พร้อมจะปฏิบัติตาม