บริษัทน้ำเมา ลองของ! ฝ่ากม.เหล้า อัดโฆษณาจัดกิจกรรมกระตุ้นยอดขาย เกลื่อนหน้าเว็บ ยิ่งเศรษฐกิจซบ ยิ่งอัดโปรโมชันเต็มที่ พบ 9 เว็บค่ายเหล้ายักษ์ใหญ่ทำผิด ไม่นับโรงแรม ร้านอาหาร โฆษณาเหล้าอีกเพียบ นักกฎหมาย ชี้ ผิดชัด อย่าอ้างไม่มีกฎหมายลูก ต้องยึดเจตนารมย์ตามกฎหมายแม่ เตือนเจ้าของเว็บได้ไม่คุ้มเสีย เจอคุก 1 ปี ปรับ 5 แสน แถมปรับรายวันวันละ 5 หมื่น
วันที่ (20 พ.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย แถลง “การละเมิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บนเว็บไซต์” โดย นายพิริยะ ทองสอน เลขาธิการมูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน กล่าวว่า การติดตามการสื่อสารข้อมูลหรือการโฆษณาของธุรกิจแอลกอฮอล์ผ่านเว็บไซต์ ตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. พบการกระทำผิดฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ใน 2 ลักษณะ 1.กระทำผิดโดยผู้ประกอบการผู้ผลิตเอง ด้วยการนำภาพผลิตภัณฑ์โชว์ไว้บนเว็บไซต์ แม้ไม่ได้โชว์ไว้ที่หน้าแรกของเว็บไซต์ แต่สามารถเข้าถึงได้เมื่อกดเข้าสู่หน้าอื่นๆ 2.การใช้เว็บไซต์จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นายพิริยะ กล่าวอีกว่า เว็บไซต์ที่กระทำผิดมี 9 เว็บไซต์ที่พบภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ยังไม่นับรวมเว็บไซต์ของร้านอาหาร ผับ บาร์ ที่โฆษณาว่าร้านมีกิจกรรมส่งเสริมการขายอะไรบ้าง และนำภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาแสดง โดยเฉพาะร้านอาหาร ผับ บาร์ ย่านเกษตร-นวมินทร์ ที่ใช้เว็บไซต์เป็นสื่อโฆษณาจำนวนมาก
“การเก็บข้อมูลการโฆษณาทางเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง พบว่าความถี่ในการโฆษณา ไม่เปลี่ยนแปลงมาก แต่จะสร้างแรงจูงใจด้วยการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี กลยุทธ์ส่งเสริมการตลาด ลด แลก แจก แถม ถูกนำมาใช้ เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการดื่มมากขึ้น”นายพิริยะ กล่าว
ดร.นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 32 และ มาตรา 30 ในเรื่องส่งเสริมการตลาด โดยมาตรา 32 ระบุชัดว่าห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แสดงชื่อ หรือเครื่องหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และต้องไม่ปรากฎภาพของสินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้จะไม่ระบุสื่อที่ใช้โฆษณาแต่ใน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 3 ก็มีนิยามของคำว่าโฆษณา ว่าหมายถึง การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็นได้ยินหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการสื่อสารการตลาด การโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ต จึงถือว่าเข้าข่ายความผิดอย่างชัดเจน
“การอ้างว่ายังไม่มีการออกกฎหมายลูก หรือประกาศกระทรวง ห้ามการโฆษณาแบบต่างๆนั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ระบุไว้ชัดเจน ความผิดที่กระทำต้องยึดตาม พ.ร.บ.หลัก ไม่ใช่ประกาศกระทรวงที่จะออกตามมา ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงสามารถบังคับใช้กฎหมายตามมาตรา 30, 32 ได้ทันที”ดร.นนทวัชร์ กล่าว
ดร.นนทวัชร์ กล่าวด้วยว่า ธุรกิจแอลกอฮอล์ทุกบริษัท ต่างทราบกฎหมายอย่างดี เนื่องจากบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.2551 จึงอยากขอให้มีจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ และเคารพกฎหมาย สำหรับผู้ดูแลเว็บไซต์ คาดว่าคงไม่ทราบข้อกฎหมาย จึงอยากให้ระมัดระวัง อย่าตกเป็นเครื่องมือ เพราะค่าตอบแทนที่ได้รับ ต่อการพัฒนาเว็บไซต์จะอยู่ประมาณ 20,000-100,000 บาท และค่าดูแล ประมาณ 3,000-5,000 บาทต่อครั้ง ไม่คุ้มกับที่จะต้องเสียค่าปรับ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับวันละ 50,000 บาท ตั้งแต่วันที่ลงโฆษณา จนกว่าจะเลิกโฆษณา
พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวว่า สมาคมฯและผู้พัฒนาเว็บไซต์ ยินดีปฏิบัติตามกฎหมาย และให้ความร่วมมือเต็มที่ แต่อาจยังมีปัญหาว่า ผู้พัฒนา-ดูแลเว็บไซต์ไม่มีความรู้ในข้อกฎหมายดังกล่าว ไม่ทราบว่าสิ่งไหนทำได้หรือไม่ได้ และยังมีส่วนของการรับโฆษณาในเว็บไซต์อื่นๆ การสร้างเว็บบอร์ดสาธารณะที่สามารถลงภาพได้ ที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน ว่า การรับโฆษณาที่มีภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การอนุญาติให้ลงภาพ ผิดหรือไม่
“อยากให้ภาครัฐเร่งให้ความรู้ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำผิดอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์อีก เนื่องจาก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นกฎหมายใหม่ จึงควรสร้างความเข้าใจให้ทั่วถึง ขณะนี้ไทยมีผู้พัฒนา และดูแลเว็บไซต์ นับหมื่นคน ทั้งภาครัฐและเอกชน การกระทำผิดในเรื่องดังกล่าวเหมือนกับความผิดในเรื่องอื่นๆ ที่ต้องให้ความรู้ว่าเป็นสิ่งผิดและไม่สามารถดำเนินการได้ เมื่อเริ่มเกิดความเข้าใจ จะเกิดการควบคุมและดูแลกันเองในกลุ่ม ทำให้เกิดการแจ้งเบาะแสและจัดการผู้กระทำผิดได้”พ.ต.อ.ญาณพล กล่าว