xs
xsm
sm
md
lg

“ภัททิรา ทางรัตนสุวรรณ” คว้ารางวัลแพทย์ชนบทหญิงดีเด่นคนแรกในรอบ 35 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พญ.ภัททิรา ทางรัตนสุวรรณ ผอ.รพ.สมเด็จพระยุพราชสายบุรี
“พญ.ภัททิรา ทางรัตนสุวรรณ” รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทของรพ.ศิริราช เผยเป็นแพทย์หญิงคนแรกในรอบ 35 ปีที่ได้รับรางวัลนี้ คณะกรรมการระบุมีความเหมาะสมทุกอย่าง เสียสละ อดทน กล้าหาญ เสี่ยงรักษาคนในพื้นที่ 3 จว.ชายแดนใต้มานานกว่า 8 ปี ด้านเจ้าตัวระบุไม่เคยคิดออกจากพื้นที่แม้ต้องเสี่ยงตายหลายครั้ง


วันนี้(29 เม.ย.) เมื่อเวลา 10.00น. ที่โรงพยาบาลศิริราช ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ร่วมด้วย รศ.นพ.อนุพันธ์ ตันติวงศ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกแพทย์ดีเด่นในชนบท จัดการแถลงข่าวประกาศผลพร้อมมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทประจำปี 2551 ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ทำการพิจารณาจาก 16 ราย และมีความเห็นตรงกันว่า พญ.ภัททิรา ทางรัตนสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี จ.ปัตตานี เป็นผู้ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท

นพ.อนุพันธ์ กล่าวว่า พญ.ภัททิรา ถือเป็นแพทย์หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลแพทย์ชนบทในรอบ 35 ปีที่มีการมอบรางวัลนี้ และพญ.ภัททิรามีความเหมาะสมเนื่องจากมีความเป็นผู้นำ บุคลิกภาพดี มีความคิดริเริ่ม ใฝ่รู้ มีความกล้าหาญ อดทน เสียสละและทำหน้าที่แพทย์ได้อย่างครบถ้วนทั้งที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้ดูแลเอาใจใส่ให้การรักษาพยาบาลประชาชนชาวไทยพุทธ และชาวไทยมุสลิม ทั้งในโรงพยาบาลและมีการลงพื้นที่ในหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง

พญ.ภัททิรา กล่าวว่า ตนได้รับเกียรติและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อทราบว่าตนเป็นแพทย์หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามถือว่านี่คือผลงานของทีมแพทย์ รพ.สมเด็จพระยุพราชสายบุรี ความร่วมมือจากชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ซึ่งตลอดระยะเวลา 8 ปีที่จ.ปัตตานีมีความสุข และอบอุ่นมาก

พญ.ภัททิรา กล่าวอีกว่า การทำงานที่ยังประสบปัญหาในพื้นที่จ.ปัตตานีขณะนี้คือ ปัญหาด้านสุขภาพจิตของคนในพื้นที่ และอนามัยแม่และเด็ก ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ประกอบกับชุมชนอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ตนจึงได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการลงพื้นที่ให้ถี่มากขึ้นพูดคุยกับชาวบ้านให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ประกอบกับคิดวางแผนให้กับชุมชนเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างเร่งด่วน (EMS) กรณีที่มีเหตุการณ์ความรุนแรง

“เรามีคติว่าต้องเชื่อว่าต้องทำได้ แล้วเราก็จะทำได้ และถ้าเราไปอาศัยอยู่ที่ไหนเราต้องทำให้ที่นั่นเจริญ ซึ่งตลอดเวลาที่ทำงานมาไม่เคยมีความคิดว่าจะย้าย แม้ว่าบางครั้งจะรู้สึกท้อและกลัวเกี่ยวกับความปลอดภัย แต่รอยยิ้มของคนไข้ทำให้เราไม่อยากไปไหน คนในพื้นที่มีน้ำใจและน่ารักมาก 8 ปีมีผู้ป่วย 95 เปอร์เซ็นต์นับถือศาสนาอิสลามและพูดยาวี เราเองก็ต้องฝึกพูดเพื่อที่จะเข้าหาคนไข้ ตอนนี้พูดอธิบายโรคได้ แต่ยังพูดเรื่องทั่วๆ ไปไม่ได้ก็ต้องฝึกต่อ” ผอ.รพ.สมเด็จพระยุพราชสายบุรี กล่าวด้วยรอยยิ้ม

ด้าน นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และแพทย์ดีเด่นในชนบทปี 2518 กล่าวว่า พญ.ภัททิรา มีความเหมาะสมกับรางวัลนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากการทำงานในพื้นที่ล่อแหลมนั้นมีความสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งเคยมีช่วงหนึ่งตนลงไปในพื้นที่ และทราบข่าวว่ามีการขู่ทำร้ายแพทย์ผู้หญิงในพื้นที่ ซึ่งมีเพียงพญ.ภัททิรา คนเดียวเท่านั้น

“แม้เคยมีเหตุการณ์ที่ขู่และหมายปองร้ายถึงชีวิตหมอเจี๊ยบก็ไม่เคยคิดจะเลิกทำงานหรือขอย้ายจากพื้นที่ ซึ่งตรงนี้เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับแพทย์รุ่นใหม่ได้เห็นเป็นต้นแบบได้” แพทย์ดีเด่นในชนบทปี 2518 กล่าว

อนึ่ง พญ.ภัททิรา ทางรัตนสุวรรณ หรือหมอเจี๊ยบ เป็นคงสงขลาโดยกำเนิด ปัจจุบันอายุ 40 ปี จบแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ในปี 2535 โดยเข้ารับตำแหน่งนายแพทย์ 4 ครั้งแรกที่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี จังหวัดปัตตานี ก่อนจะย้ายไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลยะหริ่ง จ.ปัตตานี ก่อนจะกลับมาบริหารโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรีในปี 2544 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน



กำลังโหลดความคิดเห็น