สพฐ.ปรับโครงสร้างของหลักสูตรประวัติศาสตร์ใหม่ ซึ่งวิชาประวัติศาสตร์จะเป็นส่วน 1 ใน 5 สาระของวิชาสังคมศึกษา โดยเพิ่มชั่วโมงเรียนวิชาประวัติศาสตร์สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ในทุกระดับชั้น หวังปลุกจิตสำนึกเด็กรักชาติ ซึ่ง กพฐ.เตรียมเสนอเลขา สพฐ.ลงนามแก้โครงสร้างหลักสูตร
นายสุชาติ วงศ์สุวรรณ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า การแก้ไขหลักสูตรแกนกลาง 2551 ทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2551 โดยจะใช้กับโรงเรียนนำร่อง ปีการศึกษา 2552 ส่วนโรงเรียนทั่วไปจะใช้ในปีการศึกษา 2553
ทั้งนี้ ศธ.มีนโยบายให้นักเรียนได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์ สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมงในทุกระดับชั้น เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างของหลักสูตรประวัติศาสตร์ใหม่ ซึ่งประวัติศาสตร์จะเป็นส่วน 1 ใน 5 สาระของวิชาสังคมศึกษา ได้แก่ ศาสนา หน้าที่ ภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เมื่อมีนโยบายให้นักเรียนเรียนประวัติศาสตร์สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง จำเป็นจะต้องแยกประวัติศาสตร์ออกมา แต่ยังอยู่ภายใต้กลุ่มวิชาสังคมศึกษา แต่จะแยกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1.ประวัติศาสตร์ 2.ศาสนา หน้าที่ ภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายจึงปรับโครงสร้างใหม่ เดิมชั้น ป.1 ถึง ป.6 กำหนดให้เรียนกลุ่มสังคมปีละ 80 ชั่วโมง หากจะให้เรียน 40 ชั่วโมงตลอดทั้งปี ปรับเวลากลุ่มสังคมใหม่ เป็น 120 ชั่วโมงต่อปี โดยให้ 40 ชั่วโมงให้เรียนประวัติศาสตร์ สำหรับอีก 80 ให้เรียนกลุ่มสาระสังคมที่เหลือ ซึ่งเวลาที่เพิ่มมานั้นจะดึงมาจากเวลามาจากวิชาเพิ่มเติม
สำหรับมัธยมศึกษาตอนต้น จะให้เรียนประวัติศาสตร์ สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ซึ่งเวลาเรียนจะเกี่ยวข้องกับหน่วยกิต เมื่อให้เรียนประวัติศาสตร์เพิ่ม 40 ชั่วโมงต่อปี เท่ากับ 1 หน่วยกิต จากเดิมเรียน 9 หน่วยกิตเพิ่มเป็น 12 หน่วยกิต แยกเป็นประวัติศาสตร์ 3 หน่วยกิต อีก 9 หน่วยกิตเป็นของ 4 สาระที่เหลือ ส่วนมัธยมศึกษาตอนปลาย ไม่ได้กำหนดให้เรียนทุกชั้นปี แต่ภายในเรียน 2 ปี กลุ่มสาระเดิมกำหนด 6 หน่วยกิต เพิ่มเป็น 8 หน่วยกิต โดย 2 หน่วยกิตเป็นประวัติศาสตร์ อีก 6 เป็นสาระที่เหลือ
ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวนโยบายของ ศธ.ที่ต้องการให้เด็กได้เรียนรายวิชาประวัติศาสตร์ โดยบอร์ด กพฐ. จะเสนอเรื่องนี้ให้ คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงนามเห็นชอบ ประกาศแก้ไขโครงสร้างหลักสูตร 293/2551
นายสุชาติ กล่าวว่า เนื้อหาประวัติศาสตร์ จะเป็นไปตามมาตรฐานที่ให้เรียนเดิม ไม่ต้องทำขึ้นใหม่ ซึ่งมีอยู่แล้ว เพียงแต่ดึงสาระออกมาเป็นรายวิชาเอกเทศ พอเราแยกเป็นรายวิชา จะมีความชัดเจนดังนั้น การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนจะเข้มข้นมากกว่าเดิม นอกจากนี้ สพฐ.ได้พัฒนาครูสอนประวัติสาสตร์ไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเน้นเด็กมีส่วนร่วม มีการค้นคว้า ประวัติศาสตร์ชาติไทย มีจิตสำนึกความเป็นชาติไทย