สธ.พร้อมรับผิดชอบดูแลจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บจากเหตุชุมนุมทั้ง 135 ราย ทั้ง รพ.รัฐ-เอกชน 12 แห่ง เบิกใช้งบการแพทย์ฉุกเฉินของ สปสช. รวมถึงทำหนังสือขอบคุณหน่วยงาน/มูลนิธิทุกแห่งที่ร่วมให้ความช่วยเหลือดูแลผู้บาดเจ็บอย่างดี ทั้งที่จุดเกิดเหตุและที่โรงพยาบาล เสนอมอบประกาศเกียรติคุณให้ทีมแพทย์กู้ชีพปฏิบัติหน้าที่ตลอด 1 สัปดาห์เต็ม ด้าน “วิทยา” ยันไม่มีคนตายจากเหตุปะทะ ท้าสอบถามหน่วยกู้ชีพได้
วันที่ 16 เมษายน นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงซึ่งมีทั้งสิ้น 135 ราย ซึ่งค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั้ง 12 แห่ง ที่รับผู้ป่วยไว้ดูแล ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลทหารผ่านศึก โรงพยาบาล หัวเฉียว โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า วชิระพยาบาล โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลคามิลเลียน โรงพยาบาลบางกอก 9 อินเตอร์ สถาบันประสาทวิทยา และโรงพยาบาลเดชา โดยใช้งบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งอยู่ระหว่างการประเมินความเสียหายและค่ารักษาบาลทั้งหมด
“ขณะนี้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เป็นผู้ประเมินความเสียหายและค่ารักษาบาลทั้งหมด โดย สธ.จะขอรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของประชาชนที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาล หรือไม่มีประกันสุขภาพ โดยใช้งบประมาณจากสปสช. มาเบิกจ่ายให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลราชการ และเอกชน ส่วนผู้บาดเจ็บที่มีสิทธิ์ประกันสังคม และข้าราชการ ให้ต้นสังกัดเป็นรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล ซึ่งจะมีการรายงานผลการดำเนินการทั้งหมดให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบในวันที่ 17 เมษายนนี้ด้วย”นายวิทยากล่าว
นายวิทยากล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จะขอหารือ ครม. เพื่อเสนอขอมอบการประกาศเกียรติคุณให้แก่แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่กู้ชีพ ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากเหตุชุมนุมอย่างเต็มที่มาตลอด 1 สัปดาห์ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ซึ่งในเบื้องต้นในวันนี้ (16 เม.ย.)ได้ทำหนังสือขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลรัฐในสังกัด นอกสังกัด และโรงพยาบาลเอกชน ตลอดจนมูลนิธิ/หน่วยกู้ภัย ที่ให้ความร่วมมือช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุชุมนุมครั้งนี้อย่างดี ทำให้ผู้บาดเจ็บทุกรายได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและปลอดภัย
นายวิทยากล่าวด้วยว่า สำหรับอาการบาดเจ็บของผู้ป่วยที่โรงพยาบาลราชวิถี 1 ราย คือ นายวิเชียร ขีดกลาง ซึ่งได้รับบาดเจ็บที่ขาทั้ง 2 ข้าง พ้นขีดอันตรายสามารถออกจากห้องไอซียู ได้เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ล่าสุดได้มีการประสานจาก ส.ส.ของพรรคฝ่ายค้าน ผ่านทางญาติของผู้ป่วย เพื่อขอย้ายไปยังโรงพยาบาลพระราม 9 แล้ว ซึ่งการย้ายโรงพยาบาลครั้งนี้เป็นไปตามความสมัครใจของผู้ป่วยและญาติเอง และแพทย์ของโรงพยาบาลราชวิถีพิจารณาแล้วเห็นว่าจะไม่เป็นอันตรายกับผู้ป่วย
“ส่วนกรณีที่มีการปล่อยข่าวว่ามีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากนั้น ขอยืนยันว่าตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ได้ร่วมกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด และได้กำชับให้ทีมกู้ชีพฉุกเฉินทั้งของกระทรวงสาธารณสุข และมูลนิธิในเครือข่าย ช่วยเหลือผู้ป่วยทุกรายอย่างเต็มที่โดยไม่แยกแยะฝ่าย ซึ่งได้รับความร่วมมือนำผู้ป่วยทุกรายส่งโรงพยาบาลทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ได้รับรายงานว่ามีรถกู้ชีพของบางมูลนิธิได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ชุมนุมด้วย เนื่องจากเป็นของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ดังนั้น ข้อเท็จจริงของผู้บาดเจ็บขอให้ตรวจสอบกับทีมกู้ชีพของกระทรวงสาธารณสุขและมูลนิธิในเครือข่ายที่เข้าไปให้บริการในวันนั้นได้”นายวิทยากล่าว
ด้านนพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการจำแนกสิทธิของผู้เข้ารับการรักษาพยาบาลจากเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง อย่างไรก็ตาม สปสช.มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งผู้ที่มีสิทธิรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) หากเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับรักษาได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งอยู่แล้ว โดยทางโรงพยาบาลที่รับรักษาตัวไว้ สามารถเบิกค่ารักษาจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ตามหลักเกณฑ์
“เรื่องงบประมาณคงไม่มีปัญหาเพราะมีงบส่วนนี้อยู่แล้ว อีกทั้งเท่าที่ทราบโรงพยาบาลส่วนใหญ่ที่ให้การรักษาพยาบาลเป็นโรงพยาบาลของรัฐ หากเข้าเงื่อนไขการเจ็บป่วยฉุกเฉินก็ได้รับการดูแลตามทันที” นพ.ประทีปกล่าว