xs
xsm
sm
md
lg

ผู้สูงอายุเลี่ยงนั่งรถกระบะเดินทางไกล หมอเตือนอาจทำกระดูกสันหลังทรุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เตือนผู้สูงอายุเดินทางเลี่ยงนั่งกระบะรถ ชี้อาจทำให้กระดูกสันหลังทรุด หากกระดูกหักจะรักษายาก กระดูกติดช้า รอบ 6 วันเทศกาลปีนี้ พบผู้สูงอายุทั่วประเทศได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรกว่า 1,000 ราย ชี้การรักษาค่อนข้างยุ่งยาก โดยเฉพาะในรายกระดูกหัก กระดูกจะติดช้า อาจเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เนื่องจากผู้สูงอายุกว่า ร้อยละ 20 มีโรคประจำตัว

นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งมีวันหยุดยาวหลายวันติดต่อกันมีความเป็นห่วงความปลอดภัยจากการเดินทางของประชาชน โดยเฉพาะอุบัติเหตุจราจร เนื่องจากปริมาณรถจะมากกว่าช่วงปกติ จึงเพิ่มความเสี่ยงอุบัติเหตุจราจรสูงขึ้นไปด้วย

ทั้งนี้ กลุ่มที่น่าห่วง คือ ผู้สูงอายุ การเดินทางในฤดูร้อน ผู้สูงอายุควรมีการเตรียมตัวและมีข้อควรระวังหลายประการ ประการแรกคือ ผู้สูงอายุทั้งชายและหญิง มักมีปวดปัสสาวะบ่อย ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ เนื่องจากจะทำให้เกิดปัญหาทางเดินปัสสาวะอักเสบติดเชื้อได้ ประการที่ 2 การเดินทางโดยรถยนต์ ผู้ขับขี่ซึ่งมักเป็นลูกหลาน ต้องระมัดระวังเรื่องความเร็วและการกระแทกกระเทือนของรถ หากมีผู้สูงอายุนั่งมาด้วย เนื่องจากถ้าอายุมากๆ อาจมีปัญหากระดูกเปราะบาง กระดูกพรุน โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงนั่งบริเวณกระบะของรถ เนื่องจากหากได้รับการกระทบกระเทือนแรงๆ อาจทำให้กระดูกสันหลังทรุดตัวได้ ถ้าหากจำเป็นต้องให้ผู้สูงอายุนั่งที่บริเวณกระบะรถ จะต้องขับรถด้วยความระมัดระวังมาก โดยเฉพาะเมื่อขับผ่านหลุม ลูกระนาดตามถนนในตรอกซอยต่างๆ

นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ในรอบ 6 วันเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ทั่วประเทศมีรายงานผู้สูงอายุบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร และนำส่งเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 1,070 ราย มีทั้งอาการรุนแรงและไม่รุนแรง ซึ่งการรักษาพยาบาลค่อนข้างยุ่งยาก เนื่องจากผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 20 จะมีโรคประจำตัวที่สำคัญ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคดังกล่าวจะมีผลต่อการรักษาด้วย โดยเฉพาะหากทำการผ่าตัด อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายมากกว่าคนวัยหนุ่มสาว ซึ่งในรายที่มีกระดูกหักจะต้องใช้เวลาในการรักษานานกว่าคนปกติ เช่น หากกระดูกข้อมือหัก ใช้เวลารักษาประมาณ 2 เดือน ขณะที่วัยรุ่นใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หรือกระดูกต้นขาหักใช้เวลาประมาณ 5 เดือน เนื่องจากกระดูกของผู้สูงอายุจะบางและพรุน
กำลังโหลดความคิดเห็น