สธ. เผยเมาสุราเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุร้อยละ 44 ห่วงขากลับช่วงวันที่ 15-16 เมษายน อุบัติเหตุพุ่ง เพราะง่วง เมาค้าง เตือนผู้ที่จะขับรถกลับ ขอให้หยุดดื่ม พักผ่อนเต็มที่อย่างน้อย 8 ชั่วโมง ขณะขับรถอย่าประมาทและอย่าขับรถเร็ว หากมีอาการง่วงอย่าฝืนขับ ให้พักตามจุดตรวจรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน
วันที่14 เมษายน นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงผลการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข รองรับเทศกาลสงกรานต์ ว่า ยอดสะสม 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 10-13 เมษายน 2552 หน่วยแพทย์กู้ชีพออกปฏิบัติการทั้งหมด 12,621 ครั้ง เฉลี่ยนาทีละ 2 ครั้ง โดยเป็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร 5.149 ครั้ง เจ็บป่วยกะทันหัน 5,513 ครั้ง บาดเจ็บจากการทะเลาะวิวาทกัน 932 ครั้ง จมน้ำ 38 ครั้ง โดยการออกปฏิบัติการกู้ชีพมากที่สุดในวันที่ 13 เมษายน จำนวน 3,789 ครั้ง ซึ่งในช่วงขากลับฉลองสงกรานต์ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมทีมรองรับการช่วยเหลือเต็มที่
นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า สำหรับในวันที่ 15-16 เมษายน 2552 ประชาชนที่ไปเที่ยวฉลองเทศกาลสงกรานต์จะเริ่มทยอยเดินทางกลับ จะมีความเสี่ยงต่ออาการง่วงหรือหลับใน ซึ่งเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอและเมาค้างเพราะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้สมองตื้อ อ่อนเพลีย หากเป็นคนขับรถจะเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุง่ายขึ้น จึงขอเตือนประชาชนก่อนเดินทางกลับ ขอให้เตรียมตัวล่วงหน้า โดยพักผ่อนให้เต็มที่อย่างน้อย 8 ชั่วโมง และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดก่อนเดินทาง 1 วัน เนื่องจากสถิติอุบัติเหตุตลอด 4 วันช่วงสงกรานต์นี้ สาเหตุใหญ่ที่สุดเกิดจากเมาสุราถึงร้อยละ 44-45 ทั้งนี้ ขณะขับรถกลับ ขออย่าประมาทและอย่าขับรถเร็ว หากมีอาการง่วง อย่าฝืนขับเด็ดขาด
นพ.ไพจิตร์ กล่าวด้วยว่า ผลของการง่วงนอนต่อการขับขี่รถ จะทำให้ประสาทสัมผัสทุกอย่างช้าลง สมองตื้อ การตัดสินใจผิดพลาด ใจลอย สมองสั่งการกล้ามเนื้อช้าลง เมื่อเกิดเหตุการณ์คับขันจึงแตะเบรกได้ช้ากว่าปกติ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุง่าย หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ว่าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด คือ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ก็ตาม จะมีผลต่อการตัดสินใจช้ากว่าปกติ 2 เท่าตัว